ท้องฟ้ามืดและสายฝนที่โปรยปรายลงมาตามฤดูกาล ดูจะจางหายไปแทบจะทันทีที่ย่างเท้าเข้าไปในห้องเล็ก ๆ อันเต็มไปด้วยความสดใส ที่ซึ่งประดับประดาไปด้วยภาพวาดน่ารักหลากอารมณ์ ณ ที่แห่งนี้ ลวดลายของฤดูร้อน และสีสันถูกแต่งแต้ม ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านปลายพู่กัน ของ “ป่าน” ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรือ ที่ใครต่อใครต่างรู้จักเธอในนามของ Juli Baker and Summer
ป่านได้สร้างแบรนด์แห่งความอบอุ่น อ่อนวัย ดูสดใส และเป็นเหมือนเส้นทางที่ทำให้ผู้พบเห็นได้เดินทางย้อนกลับไปสู่ความเป็นเด็กอีกครั้ง ในแบบเดียวกับบทสนทนา เราเห็นพู่กันที่ขีดวาดความงดงามในเรื่องราวและมุมมองของเธอเฉกเช่นเดียวกัน…
ชื่อ Juli Baker and Summer มาจากไหน?
ป่าน : ในตอนแรก จริง ๆ แล้วมันเป็นแค่ชื่อร้านค่ะ เหมือนป่านเองเป็นคนชอบขายของ แล้วตอนเรียนมหาวิทยาลัย ซักช่วงปี 1 ปี 2 เราก็สร้าง IG ขึ้นมาแอคเค้าท์นึง เพื่อที่จะขายหมวก ก็เลยมองหาชื่อว่าจะใช้ชื่ออะไรดี แล้วป่านตอนนั้นชอบหนังเรื่อง Flipped มาก ก็เลยตั้งชื่อ IG ว่า Juli Baker ซึ่งเป็นตัวะครใน Flipped แล้วเราเรียนแฟชั่นอยู่ด้วย ก็เลยรู้กระบวนการหลายอย่าง รู้ว่าจะพิมพ์ผ้าที่ไหน ตอนหลังก็เลยคิดว่าเราอยากทำสินค้าของตัวเองออกมาขายด้วย ก็เลยเป็นสินค้าออกมาในชื่อของ Juli Baker and Summer
รู้จัก Juli Baker ไปแล้วแต่ทำไมต้อง Summer ?
ป่าน : มาจากหนังเหมือนกันค่ะ ป่านเป็นคนชอบดูหนัง มันมาจาก 500 days of summer ทีนี้เราก็เลยคิดว่าเราชอบฤดูร้อนด้วย เลยคิดว่าซัมเมอร์นี่มันน่าจะเป็นนิยามของฤดูร้อน เหมือนแบรนด์เรามันก็มีความเป็นสีสด ๆ เป็นฤดูร้อนอยู่ ก็เลยคิดว่าในที่นี้ซัมเมอร์หมายถึงฤดูแล้วกันก่อนจะเป็น Juli Baker and Summer เคยทำของขายมาก่อนรึเปล่า?
ป่าน : ทำมาเยอะมากค่ะ คือเป็นคนชอบประดิดประดอย ม.6 ก็ทำของขายแล้ว เอาเข้าจริง ๆ ตอนม. 3 ก็ทำของขายกับเพื่อนแล้วที่เตรียม ทำเป็นกระเป๋าเย็บมือสำหรับใส่เหรียญเล็ก ๆ หรือไม่ก็ปั้นแหวนขายในงานโรงเรียน พอช่วงม.5-6 พอเราเอนท์ติดได้ที่เรียนแล้วก็จะชิว เราก็จะมีเวลาว่างเยอะ ก็จะทำเสื้อขายกับเพื่อน ทำที่คาดผมขาย ตอนนั้นขายดีมากเลยนะ
เริ่มชอบศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่?
ป่าน : ตั้งแต่เด็ก ๆ เลยค่ะ คือป่านจำได้ว่าประถมแม่ก็ส่งไปเรียนศิลปะแล้ว เพราะว่าครูที่โรงเรียนคิดว่าเรามีปัญหาเรื่องการใช้สี คือตอนเด็ก ๆ เวลาวาดภาพตอนอนุบาลเราจะระบายสีผมของคนเป็นสีชมพู หรือสีฟ้า ครูที่โรงเรียนก็จะบอกกับแม่ว่า ลูกคุณแม่ไม่ระบายสีผม เป็นสีน้ำตาล สีดำ ไม่เหมือนคนอื่น แต่แม่ป่านกลับมองว่า ลูกเราคงมีพรสวรรค์ ก็เลยส่งไปเรียนศิลปะ แล้วพ่อกับแม่ป่านเป็นคนชอบศิลปะอยู่แล้วด้วย เราก็รู้สึกว่าเวลาวาดรูปเราสนุก คือป่านเป็นคนไม่ค่อยเก่งอย่างอื่นด้วย เหมือนวิชาการหรือกีฬาก็จะทำได้ไม่ค่อยดี แต่พอเป็นศิลปะเรารู้สึกว่าเราทำได้ แล้วก็มักจะได้การตอบรับที่ดีจากคนอื่น ๆ ป่านเป็นคนชอบวาดรูป อย่างแบบบางทีเวลางานเยอะมาก ๆ แล้วป่านเครียด ซึ่งวาดรูปอยู่นะ ป่านก็จะพักด้วยการวาดรูปอยู่ดี แต่จะไปวาดอีกแบบนึงแทนอะไรอย่างนี้
งานศิลปะที่ชอบทำตอนเด็ก ๆ ?
ป่าน : ตอนเด็ก ๆ เป็นคนชอบชอบการ์ตูนเจ้าหญิง แล้วพอโตมาอีกนิดก็จะชอบสิ่งที่เราคิดไปว่าเป็นแฟชั่น เพราะว่าจะชอบวาดผู้หญิงที่แต่งตัวสวย พอโตขึ้นมาอีกเราก็จะวาดสิ่งที่ตัวเราชอบ ณ เวลานั้น ๆ มาเรื่อย ๆ
“ครูที่โรงเรียนคิดว่าเรามีปัญหาเรื่องการใช้สี คือตอนเด็ก ๆ เวลาวาดภาพตอนอนุบาลเราจะระบายสีผมของคนเป็นสีชมพู หรือสีฟ้า”
ดูเป็นคนชอบงาน Fine Art แต่ทำไมถึงเลือกเรียน Fashion ?
ป่าน : ย้อนกลับไปในช่วงมัธยม ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ป่านรู้จักพี่คนนึงชื่อพี่อุ้ง(กมลนาถ องค์วรรณดี) เขาเป็นบล็อกเกอร์เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วพี่เขาจะดังในหมู่คนที่เรียนแฟชั่น พี่เขาจะมีบล็อกของเขาเองชื่อ Vanilla Walk พี่อุ้งเป็นรุ่นพี่ป่านที่เตรียมเราก็รู้สึกว่าพี่เขาเป็นไอดอล เพราะว่าเขามีความคิดอะไรที่น่าสนใจมาก เราก็เลยเหมือนอยากเข้าคณะตามพี่อุ้ง แล้วคือเราก็ได้อยู่ชมรมเดียวกับพี่เขาด้วยตอนมัธยม ตอนที่ป่านอยู่ม.4 พี่เขาพึ่งจบไป เราก็ทำตามเขาทุกอย่าง เข้าชมรมตามเขา เป็นชมรมเกี่ยวกับแฟชั่นที่เตรียม ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่ามันสนุกแล้วอยากที่จะทำมัน แต่ตอนนั้นป่านไม่รู้ว่าแฟชั่นมันไม่ใช่แค่การวาดรูป หรือออกแบบเสื้อผ้า มันยังมีเรื่องของวัสดุ มีเรื่องของธุรกิจ ซึ่งเราไม่เอ็นจอยกับมัน ไม่ได้เอ็นจอยกระบวนการทั้งหมดของมัน เวลาต้องมาเรียนจริง ๆ
ตัดสินใจผิดมั้ย?
ป่าน : คือมันก็มี ส่วนที่ชอบแล้วก็ไม่ชอบค่ะ ป่านไม่ได้รู้สึกว่ามันเสียเวลาขนาดนั้นนะ แต่ช่วงแรกเลยตอนเรียนปี 1 ปี 2 เราก็รู้ตัวแล้วหละว่ามันมีอะไรที่เราเริ่มไม่ชอบ บางวิชาเราไม่เอ็นจอยเลยซึ่งก็จะโดดเรียน เหมือนเวลาที่ต้องเรียนเย็บผ้า งานแพทเทิร์น งานมาร์เก็ตติ้ง แต่เรียนไปซักพักเราก็จะรู้ว่าเราชอบวาดรูป รู้ว่าทำอะไรแล้วมีความสุข ก็เลยเปลี่ยนวิธีคิดว่างานที่เราได้มาแต่ละครั้งเราก็จะทำให้มันเป็นงานศิลปะ เปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนแอทติจูด แล้วสนุกกับมัน คือไม่ได้มองว่ามันเป็นงานแฟชั่น ป่านก็ยังแคร์สิ่งที่ครูวิจารณ์อยู่นะ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ทำสิ่งที่เราอยากทำ ซึ่งมันทำให้ป่านสนุกกับงานมากกว่า แล้วก็เป็นงานที่เป็นตัวเราด้วย คือป่านโชคดีด้วยที่ตอนทำธีสิส ที่ปรึกษาเขาเข้าใจเรา ก็จะอนุญาต ให้เราทำอะไรที่เป็นตัวเรา ที่เราอยากทำ ไปอยู่เชียงใหม่ ไปทำคอเลคชั่นผ้าภาคเหนือ เรียนทอผ้าฝ้ายอะไรพวกนี้
ได้ไปฝึกงานที่ต่างประเทศด้วย ทำอะไรมาบ้าง?
ป่าน : ป่านไปฝึกที่เบอร์ลินค่ะ ไปฝึกแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก ชื่อแบรนด์ nöe&zöe คือจริง ๆ ตอนนั้นเราก็อยากฝึกกับ A Book- A Day เพราะเราอยากทำหนังสือ แต่คือมหาวิทยาลัยเขาบังคับให้เราฝึกเกี่ยวกับแฟชั่น แล้วเราหาแบรนด์ในไทยที่ตรงกับสไตล์เรามันไม่มี แล้วถ้าเราไปฝึกกับแบรนด์ไทยที่เราไม่ได้ชอบขนาดนั้น ป่านว่ามันจะเสียเวลาเปล่า เพราะเราต่อยอดอะไรไม่ได้ เลยไปต่างประเทศดีกว่า จะได้ไปเที่ยวด้วย ก็เลยไปเบอร์ลิน แล้วเหมือนเขาให้ทำอย่างอื่นนอกจากแฟชั่นเยอะมาก ก็เลยสนุก ทุกวันนี้ป่านยังทำลายผ้าประจำให้เขาอยู่ ทำมาสองปีแล้ว
การไปเบอร์ลินให้ประสบการณ์อะไรกับชีวิตป่านบ้าง?
ป่าน : ถ้าให้พูดถึงทริปทั้งหมดในชีวิต ทริปนี้ป่านประทับใจที่สุด มันสนุกมาก ในแง่ของศิลปะแน่นอนว่าเราได้ประสบการณ์ ได้ไปดูว่าแบรนด์ที่ไม่ใช่ประเทศไทยเขาทำงานกันยังไง เขาออกแบบล่วงหน้า 2 ปี คือที่ป่านพึ่งไปฝึกสองปีที่แล้ว พึ่งได้เห็นออกวางขายตอนปีนี้ รู้ว่าแบรนด์ที่เขาทำผลิตภัณฑ์วางขายทั่วโลกอย่างแบรนด์ที่เราทำ อาจจะมีสถานที่ทำงานไม่ได้ใหญ่โต สตูดิโอเขาเล็กมาก ใช้คนแค่ 7-8 คน แล้วเขาก็ใช้วิธีไปใช้โรงงานเดียวกับซาร่า ไปผลิตที่โปรตุเกสอะไรอย่างงี้เอา เราก็จะได้มุมมอง ได้รู้กระบวนการ ว่าต่างประเทศทำงานแบบไหน
งานศิลปะสไตล์ของป่าน?
ป่าน : คือป่านก็ไม่แน่ใจว่ามันควรเรียกว่าอะไร พึ่งมีคนบอกว่างานสไตล์เราเป็นงาน “Expressionism” เหมือนอย่างตัวป่านเองก็จะชอบศิลปะแบบ “Naive Art” ด้วย มันจะเป็นศิลปะที่วาดไม่เหมือนจริง ไม่เน้นทฤษฏี หรือทักษะ
แรงบันดาลใจในการทำงานของป่านได้มาจากไหน?
ป่าน : เป็นทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเลย เหมือนแรงบันดาลใจมันมาหาเราเอง คือไม่ใช่อยู่ ๆ ป่านไปออกตามหา แต่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น บทสนทนา อะไรที่เจอ สำหรับป่านมันเป็นแรงบันดาลใจได้หมด อยู่ที่ตัวเราด้วยว่าจะเปิดรับสิ่งพวกนี้ได้แค่ไหน แล้วเราจะดึงมันมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานมั้ย?
Juli Baker and Summer จากร้านขายหมวกมาเป็นแบรนด์?
ป่าน : มันก็เหมือนพัฒนามาเรื่อย ๆ ค่ะ พอขายหมวกได้ เราก็เริ่มรู้ละว่า เราเรียนแฟชั่นจะไปทำโปรดักชั่นที่ไหนได้บ้าง ทีนี้ก็เริ่มขายกระเป๋า เริ่มเอาไปวางตามร้านที่สยาม แล้วก็ทำเสื้อยืด ถุงผ้า โป๊สการ์ด สติกเกอร์ ตอนนี้ก็อยากให้พัฒนาไปอีกนะ เหมือนเราอยากให้กลายเป็นแบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อยากให้คาแร็คเตอร์ของแบรนด์มีนิสัยเหมือน Juli Baker คือ มองโลกในแง่ดี กล้าหาญ แล้วก็อบอุ่น คือมันเป็นหนังแบบครอบครัว เราไม่อยากให้แบรนด์ดูแฟชั่นมาก คือไม่ใช่แค่ขายแฟชั่น เราอยากขายผ้าห่ม หมอน เก้าอี้ด้วยในอนาคต ซึ่งก็กำลังพยายามอยากจะทำให้เป็นแบบนั้น
“อยากให้คาแร็คเตอร์ของแบรนด์มีนิสัยเหมือน Juli Baker มองโลกในแง่ดี กล้าหาญ แล้วก็อบอุ่น”
ผลงานที่ชอบที่สุดที่ได้ทำ?
ป่าน : คือชอบที่สุดป่านตอบไม่ได้ แต่ว่าถ้าตอนทำสนุกที่สุดคือตอนเพ้นท์ตึก เราไม่ได้ชอบผลงานนั้นมากที่สุดนะ แต่ว่าเราชอบช่วงทำมากที่สุด คือเราเพ้นท์ตึก 3 ที่ ที่แรกจะเป็นที่นานา อันนี้มันเป็นการทำร่วมกับพี่ เหนือ(จักรกฤษณ์ อนันตกุล) แล้วก็จะมีที่ Ibis อันหลังนี้มีพ่อไปช่วยด้วย
เป้าหมายในอนาคตของป่าน และ Juli Baker and Summer
ป่าน : คือตอนนี้ป่านมีแพลนว่าจะไปเรียนต่อ แต่ว่าบางคนก็แนะนำว่าถ้าไปเรียนแล้วกลับมาอาจจะต้องเริ่มใหม่กับงานที่กำลังเข้ามา เราก็ฟังเขาไว้เหมือนกัน แต่ว่าใจจริงก็ยังอยากจะไปเรียนต่ออยู่ ป่านยังอยากเที่ยว อยากใช้ชีวิตมีประสบการณ์ คือถ้าไปต่างประเทศตอนที่อายุมากกว่านี้ความรู้สึกมันก็จะไม่เหมือนกันแล้ว ส่วน Juli Baker and Summer ก็อย่างที่ป่านบอกคือเราอยากพัฒนาให้เป็นแบรนด์ที่ขาย หลาย ๆ อย่าง ๆ ไม่ใช่แค่แฟชั่น แล้วก็คือจริง ๆ เป้าหมายที่ตั้งไว้ในอนาคตคือ ถ้าเรียนจบแล้ว เที่ยวจนพอใจแล้ว กลับมาอยากเปิดโรงเรียนสอนศิลปะเด็ก แล้วก็มีร้านของตัวเองอยู่ในนั้น แค่นี้ก็ชีวิตก็แฮปปี้แล้ว
ฝากงานให้เราได้ติดตามหน่อย?
ป่าน : ตอนนี้ก็มีจัดแสดงผลงานอยู่ที่ Virus Space & Café หัวหินค่ะ แล้วก็จะมีงานที่ Bangkok City Gallery ทำร่วมกับ Spacebar (Thai artist online space)ประมาณเดือนสิงหา แล้วก็มีงานแสดงที่ The Jam Factory นอกจากนี้ป่านมีงานเขียนลงใน Cheeze ด้วยเป็นคอลัมน์หนัง ยังไงก็ฝากติดตามกันด้วยค่ะ
ติดตามผลงานของ Juli Baker and Summer ได้ที่
Facebook : Juli Baker and Summer
IG : Julibakerandsummer
Website : julibakerandsummer.wordpress.com
Credits:
Photographer : Sithipong Tiyawarakul
Text : Thima Maipang