“LITTLE FIST OF TINY DOLL” :: ริกะ อิชิเกะ จากเด็กผู้หญิงร่างเล็กลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น สู่การต่อสู้อันดุเดือดบนสังเวียนที่แวดล้อมไปด้วยกรงเหล็ก

    สังเวียนที่แวดล้อมไปด้วยกรงเหล็ก ไม่มีทางหนีและความปราณีในการต่อสู้ ไม่ใช่สถานที่ของนักสู้ที่มีเพียงร่างกายที่แข็งแกร่งเท่านั้น แต่การเผชิญหน้าทุกครั้งยังต้องอาศัยจิตใจที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดีเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับ “ความกลัว” ของการต่อสู้ที่ต้องพบเจออีกด้วย
    ริกะ อิชิเกะ ในภาพของสาวน้อยตัวเล็กร่างบาง อาจไม่แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักสู้ในฝันของใครหลายคนยามแรกพบ แต่สังเวียนอาชีพของ One Championship ได้เป็นบทพิสูจน์อย่างดีเยี่ยมแล้วว่าเด็กผู้หญิงตัวเล็กที่เคยถูกล้อเลียนและแกล้ง ได้นำพาความฝันในศิลปะการต่อสู้ของเธอเดินทางมาได้ไกลแค่ไหน…
    และเธอยังคงเดินทางต่อไป…

ริกะในวัยเด็ก

ริกะ : เป็นเด็กที่โดนแกล้งค่ะ คือตอนเด็ก ๆ เหมือนเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นใช่มั้ย? เหมือนทุกคนเพื่อนที่โรงเรียน รุ่นพี่จะชอบแกล้งชอบล้อ แบบเราอยู่ในโรงเรียนไทย ก็จะมี  Bully นิดนึง ล้อชื่อบ้าง แกล้ง หมั่นไส้ ถ้าเพื่อนจะชอบล้อ ถ้ารุ่นพี่ก็จะมีหมั่นไส้ทั้งที่เราเป็นเด็กเนิร์ดเลยนะ อยู่โรงเรียนไทย ตัดผมสั้น ใส่กระโปรงยาวถึงตาตุ่ม แต่ก็โดนคนหมั่นไส้อยู่ดี

 

ตอนเด็ก ๆ ฝันอยากเป็นอะไร?

ริกะ : จริง ๆ เด็ก ๆ อยากเป็นหลายอย่างนะคะ อยากเป็นกระเป๋ารถเมย์(หัวเราะ) มันดูเท่ดี “ชิดในหน่อยพี่ ๆ” แล้วก็เขย่าที่ออกตั๋วกั๊บ ๆ  เอาจริง ๆ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่า จะต้องเป็นอะไร อยากเป็นหลาย ๆ อย่างมากกว่า อยากเป็นคุณครูก็อยากเป็น เพราะเรารู้สึกว่าครูที่โรงเรียนไม่ค่อยใส่ใจ อยากเป็นแอร์โฮสเตจก็มี อยากเป็นสารพัด

 

ทำไมถึงหันมาสนใจศิลปะการต่อสู้ ?

ริกะ : ตอนนั้นเราอยากหากิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง แล้วก็รู้สึกว่าการเล่นศิลปะการต่อสู้มันจะทำให้จิตใจเราเข้มแข็งขึ้นด้วย คือไม่ได้คิดจะแข่งขันอะไรนะคะ  แค่อยากหากิจกรรมทำ ก็เลยเริ่มจากไปเรียนไอคิโดก่อน แล้วก็เริ่มเรียนคาราเต้อยากเอาคืนคนที่แกล้งตอนเด็ก ๆ รึเปล่า?

ริกะ : จริง ๆ อยากให้เข้มแข็งมากขึ้นมากกว่าค่ะ คือ มันก็มีที่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาทำเราด้วยนะ แต่ไม่ได้คิดเรื่องจะไปเอาคืนแก้แค้นอะไรเลย

 

ที่มาของ Tiny Doll

ริกะ : เป็นชื่อที่ตั้งเองค่ะ คือมันเริ่มมาจากที่เราเล่น Facebook ก็จะมีคนคอยมาถามเราว่า “ริกะ” แปลว่าอะไร คืออะไร? คือฝั่งอเมริกาเขาจะมีตุ๊กตาบาร์บี้ของเขา  ฝั่งญี่ปุ่นก็จะมีตุ๊กตาที่คล้าย ๆ กัน ชื่อ “ตุ๊กตาริกะ” มันเป็นตุ๊กตา ที่ดูน่ารัก ๆ แล้วเราก็เป็นคนตัวเล็ก ๆ มันก็เลยกลายมาเป็นไทนี่ดอล

ก้าวเข้ามาสู่วงการ MMA ได้ยังไง?

ริกะ : จริง ๆ เรารู้จักกีฬาชนิดนี้มาตั้งแต่ช่วงที่สนใจศิลปะการต่อสู้แล้ว ก็เคยดูมาตั้งแต่ ม.ต้นค่ะ คือเคยดูผ่านช่องเคเบิ้ลทีวี เป็นรายการ UFC ตอนที่ได้ดูเราก็รู้สึกว่า เอ้อ… มันดูเจ๋งดีนะ ไม่เหมือนกีฬาอื่น ๆ เลย คือ เราสามารถใช้ศิลปะการต่อสู้ที่เราถนัดมาสู้ได้ ไม่ใช่แค่ยืนต่อยกัน หรือแค่กอดปล้ำ แต่ MMA เหมือนเราสามารถเลือกเอาสิ่งที่เราถนัดมาใช้ได้ ก็เลยคิดว่ามันเจ๋งดี แล้วคือหลังจากที่ เล่นคาราเต้ ไอคิโดมาจนถึงตอน ม.ปลาย เราก็หยุดเล่นกีฬาศิลปะการต่อสู้ไปเลย จนทำงานมาได้ 2-3 ปี ก็คิดว่าอยากไปหากิจกรรมอะไรทำอีก ก็เลยคิดว่ากลับไปเล่นคาราเต้ดีกว่า เพราะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบแล้วเราเล่นมาตั้งแต่เด็ก ๆ คือเราเป็นคนชอบกีฬา ระหว่างที่ไม่ได้เล่นกีฬาต่อสู้ก็ยังเล่นกีฬาอย่างอื่นตลอด เล่นบาสเก็ตบอล เล่นปิงปอง แล้วพอกลับไปฝึกคาราเต้ ก็จะมีคนแนะนำให้ลองไปเล่นยูโด ก็เลยเจอพี่ตอง(ชนนภัทร วิรัชชัย นักกีฬา MMA และแฟนของริกะ) พอรู้จักพี่ตองแล้ว เราก็บอกเขาว่าเราอยากซ้อม MMA ด้วย สุดท้ายก็เลยได้มาเล่น MMA

 

พอเริ่มฝึก MMA รู้สึกว่าแตกต่างกับสิ่งที่เคยฝึกมาก่อนมากมั้ย?

ริกะ : มันแตกต่างในลักษณะที่เราเคยรู้จักในกีฬาที่เป็น Striking คือการยืนชก ยืนสู้ แต่พอมาเป็น MMA ก็ต้องเจอความหลากหลายที่มากขึ้นค่ะ ก็จะมีไม่ใช่แค่การยืนเตะต่อยอย่างเดียวแล้ว จะมีแบบเราจะต้องเข้าไปทุ่มคู่ต่อสู้ ต้องรวบให้ได้ ต้องหักล็อค ป้องกันตัวเองจากคู่ต่อสู้ มันหลากหลายมากกว่าแล้วมันก็ทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้ว มันเลือกสิ่งที่เราถนัดได้

 

แมทช์แรกในการแข่งขันอาชีพ กับ One championship ?

ริกะ : จริง ๆ รู้สึกว่ามันดีกว่าแมทช์ที่ 2 นะคะ คือคนที่ดูทางบ้านจะรู้สึกว่าเราถนัดการนอนสู้มากกว่า ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าทำไม แต่พอมาสังเกตตัวเองจริง ๆ ในการชกทั้ง 2 แมทช์ที่ผ่านมา เราจะโดนชกก่อนตลอดตอนเริ่ม แล้วก็แทบไม่มีโอกาสได้ยืนสู้เลย เพราะมันเป็นเรื่องของจิตใจด้วย คือไม่ได้ตื่นเต้นหรือประมาทนะ แต่เหมือนสมาธิมันหลุดไปเลยมากกว่า ความรู้สึกเหมือนเวลาขับรถแล้วไม่ได้มองทาง ไม่ได้โฟกัส ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรเหมือนกัน คือไม่ใช่แค่ไม่เห็นหมัดนะ แต่เรารู้สึกว่าเราไม่เห็นคนอยู่ข้างหน้าเลยทั้ง ๆ ที่สู้กันอยู่ เราก็เลยกลับมาดูแล้วคิดว่าคงเป็นเพราะจิตใจของเราเอง อาจเป็นเพราะความเครียด ความกังวล ก็เลยทำให้เราถูกชกทั้งสองครั้งเลย สุดท้ายเราก็เลยต้องเลือกใช้เกมนอน เพราะว่าเวลาที่เราเข้าไปติดตัวเขาแล้ว เรายังมีโอกาสได้คิดเยอะกว่าการที่เราขยับโดยไม่เห็นภาพอะไร… เหมือนเป็นสัญชาติญาณมากกว่า ฉะนั้น MMA จึงเหมาะกับผู้หญิงมาก เพราะว่าเวลาที่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย สิ่งที่เราทำได้อาจจะไม่ใช่ตั้งสติ เพราะว่าสติอาจจะไม่ แต่ว่าเราจะใช้สัญชาติญาณในการป้องกันตัว

“คือไม่ใช่แค่ไม่เห็นหมัดนะ แต่เรารู้สึกว่าเราไม่เห็นคนอยู่ข้างหน้าเลยทั้ง ๆ ที่สู้กันอยู่” 

 ในฐานะที่เป็นนักต่อสู้ และผู้หญิงดูแลตัวเองยังไงบ้าง ?

ริกะ : คือจริง ๆ เราเองเป็นผู้หญิงที่รักสวยรักงามนะ แต่พอมาเป็นนักกีฬาก็เหมือนจะรักสวยรักงามมากไปมันก็ไม่ได้ เพราะว่ามันต้องซ้อม ก็จะเป็นการดูแลร่างกายตัวเอง ฝึกซ้อมให้พร้อมกับการแข่งขันมากกว่าค่ะ เพราะว่าถ้าปกติอยู่กรุงเทพเราจะซ้อมประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ช่วงที่ใกล้จะมีชก มันจะมีเก็บตัวต่างจังหวัด หรือต้องซ้อมหนัก ๆ เวลามันจะเพิ่มขึ้นอีกเท่านึง คือทำได้แค่ไปซ้อม อาบน้ำสระผม เป่าผมนอน คือแต่ละวันจะแค่นี้เลย แล้ววันรุ่งขึ้นก็ทำเหมือนเดิม ไม่ได้มีบำรุงหรืออะไรเลยค่ะ แต่งหน้าก็ไม่ เพราะมันมีเวลาน้อยมาก

 

เป็นกีฬาที่มีการปะทะ มีความบอบช้ำ ในฐานะผู้หญิงสวยคนหนึ่งมีความกลัวบ้างมั้ย?

ริกะ : เราว่าความรู้สึกเราก็คงไม่ต่างจากนักสู้ผู้หญิงคนอื่นค่ะ เพราะเราก็ไม่ได้คิดว่าเราสวยนะ ไม่อย่างนั้นก็คงไม่เลือกเส้นทางนี้ก็คงไปเป็นนางแบบเป็นดาราอะไรไปแล้ว ถ้าเราสวยขนาดนั้นนะคะ เราคิดว่าเราเป็นแค่ผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นนักกีฬา เราคงไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องหน้าจะเป็นอะไร ถามว่ากลัวมั้ย ก็กลัวนะ ทุกคนมันก็กลัวหมดแหละไม่ว่าหน้าตาจะสวยหรือไม่สวย ก็ต้องกลัวหน้าตัวเองพังกันหมดอยู่แล้ว แต่เราว่ามันขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวด้วยค่ะ ถ้าเกิดเราเตรียมตัวดีเราก็จะมีความมั่นใจที่จะป้องกันตัว ถ้าเรามีความมั่นใจปุ๊บ มันก็มีโอกาสจะชนะ พอเลือกเส้นทางนี้แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอแล้วก็เตรียมพร้อมรับมือ สิ่งที่กลัวจริง ๆ ก็คืออาการบาดเจ็บมากกว่า เพราะว่าถ้าบาดเจ็บมันจะหมายถึงการที่เราสูญเสียโอกาสในการแข่งขันไปเลยนักกีฬา MMA ต้องฝึกซ้อมอะไรบ้าง?

ริกะ : อย่างใน MMA มันมีหลากหลายค่ะ มันไม่ได้ฝึกแค่ยืนต่อย มันก็ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวนาน เราจะไม่ต่อยถี่ แล้วเราก็ต้องฝึกทุกอย่าง ต้องฝึกทั้งเทคนิค ฝึกทั้งการลงนวม จำลองสถานการณ์จริง ๆ แล้วก็ฝึกทั้งเล่นเวท สร้างกล้ามเนื้ออะไรอย่างนี้ ซึ่งในประเทศไทยยังมีนักกีฬาหญิงไม่มากเวลาฝึกก็ต้องฝึกกับผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ฝึกกับผู้ชายที่ตัวใกล้กัน ใกล้กันนี่คือมากกว่า 10 กิโลนะ จนถึงผู้ชายที่มากกว่ากัน 30กิโล เราก็ต้องฝึกกับเขาให้ได้ หรือต่อให้ฝึกกับผู้หญิงเองผู้หญิง ที่ฝึกได้น้ำหนักก็เกินกัน 10 กิโล อยู่ดีแหละ

 

ที่บ้านรู้สึกยังไง กับการมีนักกีฬา MMA สาวในครอบครัว?

ริกะ : คุณพ่อตอนนี้เสียแล้ว คุณแม่ก็จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน จะมีก็แค่พี่สาวกับน้องสาวที่อยู่ด้วยกันตลอด พี่สาวเขาก็จะกลัว ๆ หน่อย จริง ๆ เขาก็ไม่อยากให้เราชกหรอก พี่เป็นหมอผิวหนังด้วย เขาก็กลัวน้องจะหน้าแหก เสียโฉม เราก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็หาย อย่างแมทช์ล่าสุดโดนต่อยมา ตาช้ำบวมแป๊ปเดียวก็หาย พี่สาวเองเขาก็ไม่อยากให้ชกเยอะ เป็นห่วงสุขภาพในอนาคต แล้วก็เรื่องค่านิยมด้วย ที่รู้สึกว่านักมวยเป็นกีฬาคนจน ต่อไปจะทำอะไรกิน ซึ่งจริง ๆ เราก็มีรายได้เลี้ยงดูตัวเองได้นะ… ส่วนคุณแม่นี่จริง ๆ ไม่รู้ว่าคุณแม่เคยดูรึเปล่าด้วยซ้ำ เวลาส่งไปให้คุณแม่ดูส่วนใหญ่จะเป็นไปถ่ายแบบออกรายการมากกว่า ไม่รู้คุณแม่จะเข้าใจรึเปล่าว่ามันคือกีฬาอะไร เขาก็เลยไม่ค่อยว่าอะไร(หัวเราะ)

 

ศิลปะการต่อสู้สอนอะไรให้กับริกะ?

ริกะ : คือสุขภาพมาก่อนเป็นอันดับแรกเลยค่ะ ได้มิตรภาพ ต่อมาก็เป็นเรื่องของการป้องกันตัว ช่วยให้เราดูแลตัวเองได้ ป้องกันตัวคือป้องกันตัวจริง ๆ นะ ไม่ใช่ไปสู้หรือทำร้ายใคร ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ไม่มีทางเลือกจริง ๆ ก็ป้องกันตัวเองได้ แล้วก็มีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น สอนให้เราเคารพตัวเองมากขึ้น ใจเย็นขึ้นมาก คนที่เล่นกีฬาต่อสู้ทุกคนรู้ว่าความเจ็บปวดจากการโดนทำร้ายเป็นยังไง ถ้ามีคนมาหาเรื่อง เราก็รู้จักที่จะไม่เอาตัวเองไปเสี่ยง ก็จะหลีกเลี่ยงมากกว่า ถ้าถูกจี้ปล้น แล้วต้องเสียของที่เสียได้เพื่อรักษาร่างกายเราไว้มันก็คุ้มค่านะ เพราะร่างกายของเรามันสำคัญกว่านั้น ถ้าเราเอามันไปใช้บนสังเวียน มันได้ทั้งชื่อเสียง ความสำเร็จ เงินทอง แล้วก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอีกมาก

“MMA จึงเหมาะกับผู้หญิงมาก เพราะว่าเวลาที่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย สิ่งที่เราทำได้อาจจะไม่ใช่ตั้งสติ เพราะว่าสติอาจจะไม่มา แต่ว่าเราจะใช้สัญชาติญาณในการป้องกันตัว” – ริกะ อิชิเกะ

เป้าหมาย?

ริกะ : เราอยากให้ความรู้กับคนในกีฬาชนิดนี้เป็นหลักมากกว่า อยากให้รู้ว่ามันเป็นยังไง ผู้หญิงก็ฝึกได้นะ ไม่อยากให้มันถูกมองว่าเป็นกีฬาป่าเถื่อน เพียงเพราะว่าธรรมชาติของกีฬามันแตกต่างไปจากกีฬาการต่อสู้ที่เราชินกันมาก่อน ที่พวกเราทำทุกวันนี้มันเหมือนเป็นใบเบิกทาง แสดงให้คนได้เห็นว่าจริง ๆ มันมีประโยชน์กับนักกีฬาต่อสู้ของไทย มันเหมาะที่คนไทยจะเอาไปต่อยอด คือเรามีมวยไทยอยู่แล้ว เราก็สามารถฝึกฝนในทางอื่น เพื่อทางเลือกอาชีพที่ดีกว่า รายได้ดีกว่า แล้วก็ไม่ต้องเจอกับการต่อยถี่ขนาดนี้ ซึ่งตั้งแต่มีรายการ One Championship มันก็โตขึ้นเยอะมากนะคะ

 

มองภาพตัวเองในวันที่ต้องโบกมือลาจากสังเวียน MMA ไว้ยังไง?

ริกะ : ก็คงไม่ถึงกับเฟลหรอกมั้งคะ คือในอนาคตเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นยังไง จะประสบความสำเร็จขนาดไหน แต่ว่าพอถึงจุดนั้นจริง ๆ แล้วเราก็คงหาทางทำอะไรต่อ ไม่ใช่เลิกจากกีฬานี้ไปเลย อาจจะปั้นนักกีฬาขึ้นมาใหม่ สอนนักกีฬา ส่งแข่ง ให้ความรู้กับคนอื่นหรือว่าสอนป้องกันตัว คือส่วนตัวเรามองว่ามันไม่ใช่จุดจบของกีฬา MMA สำหรับเรา แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำอะไรใหม่ ๆ มากกว่า

 

บนเส้นทางต่อสู้ของ One Championship คิดถึงการได้แช้มป์ รุ่น Atom Weight ที่ Angela Lee ถืออยู่บ้างมั้ย?

ริกะ : คือ พอถึงฝึกมาเราก็ต้องอยากทดสอบตัวเองว่าได้ขนาดไหน ทุกคนก็ต้องฝันถึงแช้มป์อยู่แล้วหละค่ะ เขา(แองเจลา)เป็นคนที่ท่านอนแข็งแรงมาก คือท่ายืนอาจจะมีข้อบกพร่องบ้าง ถ้าเทียบกับนักสู้คนอื่นที่เขาเคยสู้มาด้วย แต่จิตใจเขาแกร่งมากในฐานะนักสู้ แต่เราคิดว่าถ้าเราเตรียมตัวดีมันก็มีโอกาสชนะนะ สำหรับเราคนชนะมันก็คือคนที่เตรียมตัวมาดีที่สุด

บอกอะไรสำหรับผู้หญิงที่มองริกะเป็นไอดอล แล้วอยากฝึก MMA หน่อย?

ริกะ : คนที่อยากฝึกไว้สำหรับการออกกำลังกายป้องกันตัวนี่คือยินดีมากเลยค่ะ เราก็อยากเผยแพร่กีฬาชนิดนี้อยู่แล้ว แล้วเรามองว่ามันเหมาะกับผู้หญิง อย่างมวยไทยมันก็มีแรงปะทะที่ผู้หญิงอาจจะต้องลำบากหน่อย ถ้าต้องไปยืนต่อยเตะกับผู้ชาย สำหรับ MMA ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ก็สามารถป้องกันตัวจากผู้ชายตัวใหญ่ได้ สำหรับคนที่อยากเป็นนักกีฬา เราก็ยิ่งยินดี อย่างที่บอกว่าผู้หญิงที่เป็นนักกีฬา MMA มีน้อยมาก ทั้งที่คนไทยมีศักยภาพนะ อย่างคนที่สนใจก็มาซ้อมด้วยกันดู หรือไปลองฝึก ลองลงสนาม คุณอาจจะเป็นแช้มป์ในอนาคตก็ได้…

    แม้จะต้องพบเจอกับคำสบประมาทมากมาย ทั้งต่อรูปร่าง และรูปลักษณ์ของเธอ แต่ริกะ รู้ดีว่า สังเวียนการต่อสู้จะพิสูจน์คุณค่าทุกอย่างในตัวเธอ “ริกะ อิชิเกะ”

ติดตามและตามให้กำลังใจ ริกะ ได้ที่
Facebook : Rika “Tiny Doll” Ishige / ริกะ อิชิเกะ 
IG : rikatinydoll


Credits :
Model : Rika Ishige
Text : Thima maipang 

Photographer : Patarit Pinyopiphat
Stylist : Jakkaphong Kirdtongkum
Stylist’s asst. : Sutsiri nimruang
Mua&Hair : Sarayut Pengsomya
Photographer’s asst. : Sithipong Tiyawarakul
Fashion producer : Sunicha Suparat
Location :  Quaint Bangkok

*Rika wears (1)Red stripe long sleeve T-shirt by Daily paper from UPPERGROUND. // (2)Hoddie by Riot hoodie from DANCING RIOT, Pants by Velet wide from DANCING RIOT, Shoes by Keen from UPPERGROUND// (3)Jacket by Teenager Suicide from FUXURY.