ในยุคปัจจุบันที่ร้านกาแฟผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ด ต่างพยายามหาความต่างของสไตล์การตกแต่งร้าน ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น ไว้ให้ผู้คนได้มาถ่ายรูปพร้อมกับดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟหลากสไตล์ ตามแต่บุลคลจะชื่นชอบ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการอยู่รอดคือคุณภาพของกาแฟ บาริสต้าผู้มีหน้าที่ชงกาแฟและรังสรรค์เมนูต่างๆ จึงให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ด วัตถุดิบที่ใช้ วิธีการชง และความละเอียดอ่อนทางด้านเทคนิคต่างๆ เพื่อนำเสนอกาแฟที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าทุกคน
วันนี้ Mellow issue และ Boncafe ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ 4 บาริสต้าที่มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจและเปิดมุมมองของแต่ละคน…
บาริสต้าผู้ผสานศาสตร์และศิลป์
“ปั้น – พศิน ผดากุลพัชร” The Crack Cafe
The Crack Cafe ต้อนรับผู้คนด้วยประโยคคลาสสิก “You are some kind of wonderful” ทำให้ร้านขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ใต้แมกไม้ อบอุ่นและมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ไม่น้อย
ที่นั่นมีบาริสต้าหนุ่มสายเท่ประจำการอยู่หน้าเคาท์เตอร์บาร์ ผมตัดเป็นทรงทันสมัยสวมแว่นทรงกลม มีท่าทีนุ่มนวล นามว่า ปั้น – พศิน ผดากุลพัชร
“ผมเริ่มจากทำงานที่ร้านอาหาร ได้เห็นบาริสต้าทำงาน เลยรู้สึกว่าอาชีพนี้ดูมีเสน่ห์ มีอะไรบางอย่างที่เท่มากเลย เราอยากเข้าไปอยู่ตรงนั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่อยากทำ แล้วต่อมาก็มาอยู่ร้าน The Crack Cafe ครับ” ปั้นเริ่มเล่าจุดเริ่มต้นในการเป็นบาริสต้าให้ฟัง
แม้เขาจะไม่ได้เป็นเจ้าของร้านเอง แต่ก็ทุ่มเทจริงจังกับการทำงาน ถ้ามีโอกาสก็จะเข้าแข่งขัน และพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ
“การเป็นบาริสต้า ต้องใช้ทั้งศาสตร์ศิลป์ และทฤษฎี มีความละเอียด เราสามารถเลือกกาแฟให้ถูกใจลูกค้าได้ ถ้าเรารู้และมีประสบการณ์มากพอ การเทลายบนกาแฟต้องมีเหตุผลที่จะทำ ต้องมี performance มีความสามารถในการทำ ใช้ความรู้ทางด้านนม กาแฟ แล้วเทคนิคการฝึกด้วย”
ปั้นเล่าต่อไปให้เห็นภาพว่า ในการทำลาเต้อาร์ตแต่ละครั้ง ต้องสังเกตบุคลิกภาพของลูกค้าว่าเหมาะกับการเสิร์ฟลายไหน จะเสิร์ฟกระต่ายหรือมังกร ต้องศึกษาให้แน่ชัดก่อน ผสมผสานไปกับการฝึกเทลายให้แม่นยำและสวยงาม
“การเทลายแต่ละครั้งต้องมีที่มาที่ไปด้วย เราก็อาจจะไปดูรูปใหม่ๆ ออกเดินทาง แล้วต้องซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ทำแล้วคนต้องดูออกว่าคือลายอะไร”
ไม่ใช่แค่นั้น ปั้นยังฝึกหัดและพัฒนาตัวเองไม่หยุดยั้ง ขยันสร้างเมนูใหม่ๆ ขึ้นมาจนออกมาเป็น Signature Drink ที่สะท้อนความเป็นหนุ่มละมุนออกมาผ่านกาแฟที่ชื่อ “24 Hours”
“Signature Drink ตัวนี้มีแรงบันดาลใจมาจากคาแรคเตอร์ผมเอง ผมเป็นคนชอบทานนม เวลาผมทำเครื่องดื่มอะไรหลายๆ อย่าง ผมชอบให้มี aftertaste คือกลิ่นที่ค้างในปาก อวลในลำคอ เช่น กลิ่นควัน กลิ่นสมุนไพร ก็เลยออกมาเป็นตัวนี้ โดยส่วนผสมด้านในก็จะเป็นพวก ไซรัปชินนามอน สมุนไพรในเครื่องพะโล้ นม ผสมกัน โรยด้วยกาแฟ ตกแต่งแก้วด้วยอัลมอนด์ผสมชินนามอน”
24 Hours จึงกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีความละมุน ทานง่าย มีกลิ่นชินนามอนอวลอยู่ในลำคอ ได้กลิ่นหอมของสมุนไพรเป็นเอกลักษณ์
“ผมว่ามันเป็นรสชาติแนวผู้ชายหน่อยๆ แต่เป็นผู้ชายละมุนๆ ไม่ได้ดุดันมาก” ปั้นนิยามเครื่องดื่มของเขาด้วยรอยยิ้ม
นอกจากเรื่องการขยันหารสชาติใหม่ๆ แล้ว สิ่งที่ปั้นคิดว่าบาริสต้าต้องมีคือมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนมาหาเพื่อนทุกครั้งที่เข้าร้าน ขณะเดียวกันบาริสต้าก็ต้องหมั่นออกเดินทางไปหาความรู้ด้านนอกด้วย เพื่อหาความแปลกใหม่ให้ตัวเอง
“แพสชันในการทำกาแฟของผม คือผมได้เรียนรู้ไม่สิ้นสุด ได้อยู่กับสิ่งที่ชอบ ผมเชื่อว่าลูกค้าทุกคนมีความชอบที่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของเมล็ดกาแฟ ความขม ความหวาน ถ้าเราทำให้ลูกค้าพอใจที่สุดกับกาแฟแก้วที่ผมทำ ผมว่าก็แฮปปี้มากเลย”
ในอนาคตปั้นคิดว่านอกจากเป็นบาริสต้าแล้ว เขาก็ยังอยากทำร้านของตัวเอง
“บาริสต้าอาจจะมีหรือไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเองก็ได้ แล้วแต่ขอบเขตของแต่ละคน แต่สำหรับผม ถ้ามีโอกาสผมก็อยากจะมีหน้าร้านเป็นของตัวเองแน่นอนครับ”
เขายังพูดถึงกาแฟด้วยแววตาสดชื่น ทิ้งท้ายว่า
“กาแฟมีความน่าหลงใหลอยู่ในตัว ถ้าได้มาทำ มันไม่มีที่สิ้นสุด มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ ให้เราได้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอเลย”
เพราะการเรียนรู้ไม่มีคำว่า ‘สาย’
“ณี – มะลิณี อัศวไกรกิจ” บาริสต้าลายครามแห่ง Puff & Pie by MonCafe
นับจากวันแรกที่เริ่มหัดชงกาแฟ ตอนนี้ ‘มะลิณี อัศวไกรกิจ’ หรือ ‘พี่ณี’ เป็นบาริสต้ามากว่า 10 ปีแล้ว
“อายุเป็นเพียงตัวเลขนะ ยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ ก็ท้าทายเรา” พี่ณีกล่าวด้วยรอยยิ้ม เมื่อถูกถามว่าเป็นบาริสต้ามาก็นานแล้ว ทำไมยังขวนขวายความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ
คำพูดนี้ไม่ใช่เรื่องเกินเลย เมื่อพี่ณียังสวมกางเกงยีน ยืนชงกาแฟอย่างคล่องแคล่ว และสรรหาเมนูใหม่ๆ มานำเสนอลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ในร้าน Puff & Pie by MonCafe ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ลูกค้าส่วนมากมีทั้งอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งหลากหลายบุคลิกและความต้องการ กาแฟในร้านพี่ณีจึงมีตั้งแต่ลาเต้ไปจนถึง Specialty Coffee
พี่ณีเล่าจุดเริ่มต้นในการชงกาแฟให้ฟังว่า ไปเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้าแล้วได้กลิ่นหอมกาแฟลอยมาแตะจมูก จากคนที่ดื่มกาแฟ 3in1 แค่ปีละครั้ง และแยกไม่ออกว่า ‘โรบัสต้า’ ต่างจาก ‘อราบิก้า’ อย่างไร ก็ค่อยๆ ศึกษาการทำกาแฟอย่างเอาจริงเอาจัง จนกลายมาเป็นอาชีพและเข้าแข่งขันหลายครั้ง
“เราได้เรียนรู้เทคนิคจากการไปเรียนทำกาแฟมา แล้วมาดูว่าตัวเองพร้อมมั้ยในการทำร้าน ก็ตัดสินใจซื้อเครื่องชงกาแฟเป็นของขวัญให้ตัวเอง เปิดขายไปเลย พร้อมกับเรียนรู้ไปด้วย ขยับขั้นจากเครื่องเล็กขึ้นมาเป็นเครื่องใหญ่ ตามลำดับ”
ย้อนไป 10 กว่าปีก่อน พี่ณีเปิดร้านขายอาหารตามสั่ง ขยับมาเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ แล้วค่อยเริ่มเปิดขายกาแฟสดเป็นรถเล็กๆ อยู่หน้าร้านเฟอร์นิเจอร์ และมีกาแฟโบราณ น้ำปั่น น้ำแข็งใส ขายด้วย ถัดจากนั้นไม่นานพี่ณีก็เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวพร้อมๆ กับขายกาแฟ เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้ามาก
“ร้านเฟอร์นิเจอร์เป็นความจริง ส่วนร้านกาแฟคือสานฝัน” พี่ณีเล่าให้ฟังถึงการเปิดร้าน Puff & Pie by MonCafe ที่เพิ่งย้ายมาเปิดได้ปีกว่า หลังจากขายกาแฟอยู่ที่เดิมมานาน
สิ่งหนึ่งที่โดดเด่น และเป็นเมนูที่ใครมาร้านนี้ก็ต้องสั่งคือลาเต้อาร์ต มีลายประจำที่พี่ณีชอบทำคือ Wing Tulip, Rosetta และ ลายหงส์ เป็นต้น
“ลาเต้อาร์ตเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง เป็นหน้าตาของร้านเราด้วย ยิ่งถ้าเราทำออกมาได้สวยเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการโปรโมตร้านไปในตัว ลายยิ่งยากเท่าไหร่ ยิ่งท้าทายเรามากเท่านั้น ทำออกมาได้ดี ก็ยิ่งภูมิใจ ตอนแรกก็เลยต้องลงเรียนเพื่อจะมาปรับปรุง แล้วเราต้องซ้อม ไม่ว่าจะยังไง เราต้องซ้อม”
นอกจากการทำลาเต้อาร์ตที่ต้องฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นแล้ว Signature Drink ของพี่ณีก็คิดอย่างพิถีพิถัน ใช้ชื่อว่า Passion Coffee นำเสาวรสสกัดเย็นมาผสมกับกาแฟ เขย่าเพื่อให้ได้รสชาติ ดื่มแล้วสดชื่น ตื่นตัว เหมาะกับอากาศร้อนๆ บ้านเรา
ไม่ใช่แค่เอาจริงเรื่องรสชาติและฝีมือเท่านั้น แต่พี่ณีมองว่าบาริสต้าที่ดีต้องมีองค์ประกอบอื่นด้วย
“บาริสต้าต้องรู้จักพูดคุยกับลูกค้า ไม่ใช่เอาแต่ทำอย่างเดียว ต้องบอกได้ว่าเมล็ดกาแฟนี้มาจากไหน ลูกค้าต้องการรสชาติประมาณไหน เราก็ต้องจัดเมล็ดกาแฟให้ตรงกับคาแรคเตอร์ของลูกค้าให้ได้ บางคนมาบุคลิกเข้มเลย แต่กินกาแฟอ่อนก็มี บางคนมาแบบผู้หญิงเรียบร้อย ขอแบบเอสเปรสโซ่ดับเบิ้ลช็อต ก็เจอหลายรายเหมือนกัน หลักสำคัญคือต้องอ่านใจลูกค้าให้ออก”
มีหลายเรื่องที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการเป็นบาริสต้าที่ดี เหมือนอย่างที่พี่ณีพูดไว้อย่างน่าสนใจว่า
“พี่ไม่เคยคิดว่าอายุคือสิ่งที่จะทำให้พี่หยุดอาชีพบาริสต้า หรือหยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ถึงแม้พี่จะอยู่วงการนี้มานาน แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตลอด พี่ต้องมองหาเรื่อยๆ ว่ามีเทคนิคใหม่ๆ อะไรไหม เทรนด์ตอนนี้เป็นยังไง พัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งการประกวดก็คงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ทุกคนได้ไอเดีย ได้พัฒนาฝีมือ เราจะได้ยังเป็นบาริสต้าที่มีความสามารถ และลูกค้ายังคงติดใจอยู่เสมอ”
“บาริสต้าก็เหมือนพ่อครัว” ศิลปะกาแฟและการแข่งขันในสายตาของ
“จักร – วริศพันธ์ อัคริมาธนาฉัตร” Baker Gonna Bake
เข้าซอยสุขุมวิท 26 มาไม่ไกล ตรงหัวมุม มีร้านกาแฟสีขาวอยู่ใต้ร่มไม้สีเขียวตั้งอยู่ ตัวหนังสือ Baker Gonna Bake ตวัดสวยบนแผ่นป้ายไม้หน้าร้าน ทันทีที่เปิดประตูกระจกเข้าไปในร้าน เจ้าของร้านที่ควบตำแหน่งบาริสต้าหนุ่ม ‘จักร – วริศพันธ์’ ก็ส่งยิ้มต้อนรับ
กลิ่นกาแฟลอยอบอวลไปทั่วร้าน ขนมหวานตั้งอยู่บนชั้นละลานตา ตรงป้ายเมนูเครื่องดื่มมีกาแฟหลากหลายชนิดให้เลือกดื่ม เช่น Bitter Sweet, Zesty Mocha, Squeeze & Sour เหล่านี้ล้วนเป็น Signature Drink ของร้าน หรือหากใครชอบกาแฟทั่วไป ก็มีให้เลือกสรรหลายชนิด สามารถบอกบาริสต้าให้ลดระดับความหวาน เพิ่มความมัน เติมความเปรี้ยวได้ตามแต่ใจ
ยังมีป้ายติดกระจกเขียนเอาไว้อย่างน่ารักว่า ‘Worry Less and Smile More’ ซึ่งสอดคล้องกับบุคลิกของจักรที่มีรอยยิ้มบนใบหน้าเสมอ
จักรเริ่มต้นสนใจการทำกาแฟจากลาเต้อาร์ตก่อน แล้วค่อยๆ ขยับเข้ามาสู่กาแฟแบบอื่น ใช้เวลาศึกษาอยู่เกือบปีก่อนจะเริ่มต้นอาชีพบาริสต้า นอกจากนี้เขายังสมัครเข้าแข่งขันทำกาแฟในหลายเวที ได้โชว์ฝีมือจนเป็นที่รู้จักในแวดวงกาแฟเป็นอย่างดี
“ผมมองว่าบาริสต้าก็เหมือนเชฟ เชฟต้องหาวัตถุดิบดีๆ มาปรุงเสิร์ฟให้ลูกค้า ส่วนบาริสต้าก็ต้องหาเมล็ดกาแฟดีๆ มาเสิร์ฟเหมือนกัน” ข้างต้นคือประโยคที่เขาใช้อธิบายความสำคัญของบาริสต้า
“คนเราดื่มกาแฟทุกวัน และเลือกรสชาติได้มากขึ้น ในฐานะที่เราเป็นบาริสต้าเราก็อยากเสิร์ฟกาแฟที่ดีที่สุดในทุกๆ แก้ว ของทุกๆ วัน” จักรกล่าวย้ำ เขามองว่ากาแฟเดินทางมาถึงยุค Specialty Coffee ที่ลูกค้ามีตัวเลือกในการดื่มกาแฟค่อนข้างหลากหลาย นั่นทำให้จักรให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อมและการเฟ้นหาเมล็ดกาแฟหรือวัตถุดิบมากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะมีแข่งหรือไม่ก็ตาม ในทุกวันเขาจะฝึกเทลาเต้อาร์ตอย่างน้อย 5 แก้ว รวมๆ แล้วน่าจะฝึกเทมาไม่ต่ำกว่าพันแก้ว นอกจากลายพื้นฐานแล้ว เขายังมีความฝันว่าอยากเทลายที่มีรายละเอียดอย่างระดับที่แชมป์โลกทำ
“การพัฒนาตัวเอง อยู่ที่การฝึกฝนซ้ำไปซ้ำมา เราก็จะรู้ว่าในการทำอะไรแต่ละอย่าง จะมีรายละเอียดเล็กๆ การที่เราฝึกทำก็จะรู้ลึกมากขึ้น ทำให้เราพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้”
เมื่อลองให้เขานิยามตัวเองว่าเป็นบาริสต้าแบบไหน เขาหัวเราะแล้วกล่าวติดตลกว่า “ผมว่าผมเป็นบาริสต้าสายหวานนะ”
จักรให้เหตุผลว่าเพราะเขาชอบที่จะสร้างรสชาติกาแฟใหม่ๆ ขึ้นมา หยิบจับรสหวาน เปรี้ยวมาผสมกัน ให้ได้ความแปลกใหม่ เช่น เมนู Bitter Sweet กาแฟที่มีรสชาติลิ้นจี่และกุหลาบ ในรูปแบบของกาแฟนม ดื่มแล้วให้ความรู้สึกหอมหวานนุ่มนวล
ไม่ใช่แค่ตั้งใจกับกาแฟทุกแก้วเท่านั้น แต่จักรยังเป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบในการแข่งขันทำกาแฟ เข้าร่วมแข่งอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส เพราะเขามองว่า การแข่งขันทำให้เกิดมิตรภาพและได้ฝึกฝนตัวเอง
“ผมว่าการชงกาแฟเป็นศิลปะ มีการทำหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเอามาแข่งกันได้ ผมชอบที่จะแข่งขัน เพราะนอกจากเราต้องแข่งกับคนอื่นแล้ว สิ่งสำคัญคือการแข่งกับตัวเอง ผมแข่งมาหลายเวที แต่ละเวทีก็จะแตกต่างกัน ได้ทดสอบตัวเอง”
“การแข่งขันทำให้เราไม่หยุดนิ่ง ได้ออกไปเจอคนนู้นคนนี้ ช่วยกัน บอกกัน สอนกัน ได้ใส่ไอเดียเทคนิค ครีเอทีฟใหม่ๆ จริงๆ แล้วเราได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากนะครับกับการแข่งขันในแต่ละครั้ง และที่สำคัญคือผมว่าผมได้มิตรภาพที่ดีมากในทุกๆ ครั้ง”
หัวใจบริการและความคิดสร้างสรรค์ของ
“ไก่ – พัชรี สุขไพบูลย์” The Lantern : Millennium Hilton Bangkok Hotel
หลังโรงแรมฮิลตัน มีร้านกาแฟริมน้ำบรรยากาศดีร้านหนึ่งชื่อ The Lantern มีทั้งโซนห้องแอร์เย็นฉ่ำ และที่นั่งด้านนอกเอาไว้รับลมแม่น้ำ ที่นี่มีบาริสต้าที่มีหัวใจบริการเต็มเปี่ยม นามว่า ‘ไก่’ พัชรี สุขไพบูลย์
ไก่ทำงานที่โรงแรมฮิลตันมาหลายปี ดูแลทั้งส่วนสเต็กเฮ้าส์ ห้องอาหาร ดูแลแขกระดับพรีเมียมในการจัดชุดกาแฟพิเศษ และเป็นบาริสต้าในร้าน The Lantern ด้วย
ด้วยประสบการณ์การทำงานบริการที่เรียกได้ว่าอยู่ในระดับ ‘มืออาชีพ’ ผนวกกับความหลงใหลในการดื่มกาแฟ เมื่อสองสิ่งนี้รวมกัน ไก่จึงให้ความสำคัญกับทั้งรสชาติกาแฟและคุณภาพของงานบริการอย่างจริงจังเข้มข้น
ไก่เล่าว่าครูคนแรกที่สอนทำกาแฟคือ YouTube เธอดูแล้วฝึก อ่านแล้วทำ อยู่ 1 เดือนเต็ม ก่อนจะเข้าแข่งขันรายการแรกในระดับโรงแรม ไก่ได้ที่ 1 พอขยับไปแข่งระดับประเทศ ก็ได้ที่ 1 อีก พอเห็นว่าไก่เอาจริง ทางโรงแรมจึงสนับสนุนโดยให้ครูมาสอนตัวต่อตัว หลักๆ คือฝึกทำลาเต้อาร์ต ก่อนจะออกไปแข่งรายการระดับ South East Asia Pacific ที่มาเลเซีย ไปครั้งแรกไม่ได้รางวัลติดมือ แต่สิ่งที่ได้มาแน่นปึ้กคือประสบการณ์ เธอกลับมาฝึกฝนอย่างเข้มข้น กลับไปอีกครั้งที่อินโดนีเซีย ไก่ได้ที่ 2 กลับมา สะท้อนความเอาจริงเอาจังกับอาชีพบาริสต้าได้เป็นอย่างดี
“สิ่งสำคัญของบาริสต้าคือคุณต้องรู้จักกาแฟที่คุณเสิร์ฟให้แขก รู้คาแรคเตอร์ของเขาให้ดีที่สุด เสิร์ฟช็อตที่ดีที่สุด” คือสิ่งที่ไก่เน้นย้ำอยู่เสมอในการทำงาน นอกจากความเป็นเลิศด้านการบริการแล้ว ไก่ยังพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการทำกาแฟ เธอยกตัวอย่างหัวใจของการทำลาเต้อาร์ตว่า
“ลาเต้อาร์ตเริ่มต้นตั้งแต่เราเลือกเมล็ดกาแฟ ตบช็อตยังไง สตีมนมยังไง ใช้นมอะไร เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจ เพราะว่าลาเต้อาร์ตเป็นเสน่ห์ เป็นศิลปะ”
สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่าการทำกาแฟทั่วไป คือไก่ยังขยันสรรหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาผสมผสานกับกาแฟ จนออกมาเป็น Signature Drink ที่สะท้อนตัวตนของไก่ได้หมดจด ยังไม่พูดถึงรสชาติที่กลมกล่อมและหาทานไม่ได้จากที่ไหน ในชื่อ Touch of Masterpiece ซึ่งคว้ารางวัลมาแล้ว ไก่ใช้ Jasmine syrup ผสมลงไปในกาแฟช็อตเข้มข้น แล้วใส่สายไหมอยุธยาที่มีรสหวาน เมื่อทุกอย่างผสมกันแล้วจึงออกมาเป็นรสชาติเฉพาะตัว
“เราเป็นคนชอบดอกมะลิ แล้วก็เป็นคนอยุธยาด้วย เราเห็นสายไหมสวย ก็คิดว่าน่าจะเข้ามาอยู่ในกาแฟได้ เราทำงานในโรงแรม ทุกคนมีความเป็นบาร์เทนเดอร์ในตัวเอง เราก็เอามาผสม เชค จนออกมาเป็นเครื่องดื่มจากมือเรา ทุกอย่างเป็นตัวตนของเราหมดเลย”
เมื่อถามถึงความสุขของอาชีพบาริสต้าแล้ว แน่นอน ไก่มองว่าแค่ลูกค้าสักคนเดินเข้ามาสั่งกาแฟ แล้วดื่มหมดแก้ว แค่นั้นก็เป็นความสุขของคนทำกาแฟแล้ว แต่นอกเหนือจากนั้น แพสชันและการแข่งขันก็เป็นตัวผลักดันบาริสต้าได้เช่นกัน
“จริงๆ แล้วความสุขเกิดได้ถ้าเรามีแพสชัน ทุกครั้งที่ลงสนามแข่ง เราคิดเสมอว่าฉันไม่ต้องชนะในเวทีนั้น ฉันแค่ได้มีแพสชัน ออกจากคอมฟอร์ตโซนไปอยู่ในการแข่งขันนั้นๆ ก็ถือว่าชนะตัวเองแล้ว แล้วเราก็ได้เพื่อน ได้ประสบการณ์ แล้วเราต้องทำอยู่เสมอ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เราคิดสร้างสรรค์ แล้วก็ทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด”
สุดท้ายไก่พูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างการทำงานในอาชีพบาริสต้า และการแข่งขันไว้อย่างน่าสนใจว่า
“การทำงานแต่ละส่วนมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว อาชีพบาริสต้าเป็นงานที่ค่อนข้างใช้ความละเอียดอ่อนและความสร้างสรรค์ เช่น เวลาทำลาเต้อาร์ต น้ำหนักมือ สมาธิ ทุกอย่างคือต้องตั้งใจตรงนั้น เรื่องรสชาติหรือความหอมกลมกล่อม ไม่ต้องพูดถึงเพราะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อยู่แล้ว”
“ทุกครั้งที่เราได้ลงแข่งขันมันเหมือนเราได้ชาเลนจ์ตัวเอง เราเองอยากให้มีการแข่งขันเกิดขึ้นเรื่อยๆ นะคะ เหมือนทุกคนได้ให้ความสำคัญกับวงการกาแฟและเปิดกว้างมากขึ้น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้ทำในสิ่งที่ชอบ แล้วมาประลองฝีมือกัน”
จากเรื่องราวที่ถูกเล่าผ่านบาริสต้าทั้ง 4 คนที่ล้วนแล้วแต่มีคาแรคเตอร์อันแตกต่างกัน จะเส้นทาง หรือแนวคิดที่แต่ละคนปูทางเดินให้ไปถึงฝันของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ว่ามันแทบจะเหมือนกันคือ การที่พวกเค้าไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ ไม่หยุดที่จะพัฒนาฝีมือ ไม่หยุดที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ กับอาชีพที่พวกเขารัก เราจึงอยากเชิญชวนบาริสต้าทั่วทั้งประเทศที่รักในอาชีพ และอยากที่จะพัฒนา อยากที่จะโชว์ฝีมือ มาเข้าร่วมการแข่งขัน มาแชร์ไอเดีย มาพบปะเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง เข้าร่วมการแข่งขัน Creative Drink และ Latte Art สุดแนว กับกิจกรรม “Thailand Creative Barista Challenge Ep.2 by Boncafe“ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดบาริสต้าจากทั่วทั้งไทย และต่างประเทศเข้าร่วมแข่งขันโชว์ฝีมือความสามารถทำ Latte Art และสร้างสรรค์เมนู Signature Drink โดยทีม Boncafe จะเดินทางไปหาผู้ชนะแต่ละภูมิภาค และมาร่วมประลองเพื่อคัดสรรผู้ชนะชิงแชมป์ประดับประเทศ ผู้ชนะเลิศจะคว้ารางวัลเครื่องทำกาแฟ La Marzocco Linea Mini และยังมีรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท
ถึงแวลาแล้วกับโอกาสดีๆ แบบนี้ มานำเสนอผลงานของตัวเองด้วยคาแรคเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ ใครพร้อมแล้ว สมัครได้เลย
>> Click <<
หรือติดตามรายละเอียดได้ที่
www.facebook.com/boncafetcbc
#Boncafe #TCBC #BaristaThailand #Episode2 #LatteArt #SignatureDrink #Coffee
Special thanks : Boncafe
www.boncafe.co.th
FB : Boncafe Thailand
Credits
Text : Panis Phosriwungchai
DOP : Kittanai Tang, Chat Dulyarat, Kritsakorn Mapuak
Photographer : Sithipong Tiyawaraku, Patarit Pinyopiphat
Producer : Sunicha Suparat