โย-โยธิน พูนสำโรง กับเรื่องราวเบื้องหลัง “Knowwhere Studio” ที่เป็นมากกว่าร้านเสื้อผ้ามือสอง

คุยกับ โยโยธิน พูนสำโรง ถึงเรื่องราวข้างหลังร้าน Knowwhere Studio ร้านเสื้อมือสองขวัญใจสายสตรีท ที่เขาใช้เวลากว่า 10 ปี ในการสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ขยับขยายร้านจากออนไลน์มาเป็นสตูดิโอที่มีสไตล์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร ด้วยเสน่ห์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเสื้อยืดเก่า Knowwhere Studio จึงกลายเป็นขวัญใจของเหล่านักสะสมสายวินเทจ และไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากที่ไหน เพียงแค่คุณก้าวเข้าไปในร้าน คุณก็จะได้พบกับแรร์ไอเท็มที่ถูกใจอย่างแน่นอน!

เริ่มสนใจเสื้อผ้าวินเทจตั้งแต่เมื่อไหร่?
โย : มันเริ่มมาจากเราเป็นคนชอบฟังเพลงต่างประเทศทั่วไป และเราก็สนใจว่า เสื้อที่เขาใส่มันเป็นเสื้ออะไร เราอยากใส่ตามศิลปินที่เราชอบ เราก็เริ่มไปหาเสื้อตามสวนจตุจักร ตอนนั้นยังไม่มีความรู้เลยของแท้บ้าง ปลอมบ้าง พอเราไปบ่อยๆ เราก็เริ่มรู้จักคนที่มีไลฟ์สไตล์ มีการฟังเพลงคล้ายๆ กัน ผมว่าดนตรี ศิลปะ เสื้อผ้า แฟชั่น มันเป็นสิ่งที่คู่กันมาตลอดครับ เราก็เลยสนใจสิ่งเหล่านี้มาเรื่อยๆ เกือบ 10 ปีแล้ว

เสน่ห์ของเสื้อวินเทจในสายตาของโย
โย : 
ส่วนตัวผมมองว่า คุณภาพมันค่อนข้างดี เสื้อบางตัวอยู่มาเป็น 10 ปีแล้ว ต่อให้ใส่จนสีเฟดแล้ว แต่เนื้อผ้าก็ยังดีอยู่ คอก็ยังตึงอยู่ มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า เสื้อมือสองมันมีระยะการใช้งานได้ยาวนานกว่าเสื้อทั่วไป สำหรับคนที่เป็นนักสะสม คนที่ชอบเสื้อพวกนี้ เขาจะรู้สึกว่าเขาเก็บงานศิลปะอยู่ มันเป็นคุณค่าทางใจมากกว่าครับ

จากความชอบกลายมาเป็นอาชีพได้อย่างไร?
โย : สมัยก่อนเราทำงานออฟฟิศ การซื้อเสื้อมือสองมันเป็นเหมือนงานอดิเรกมากกว่า จนเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เอาจริงๆ ช่วงนั้นชีวิตเราค่อนข้างแย่ ทำงานออฟฟิศก็ได้เงินวันต่อวัน แทบไม่มีเงินเก็บเลย แฟนเราบอกว่า ถ้าเรามีความรู้เรื่องเสื้อ ทำไมไม่เอาความรู้นี้ไปพัฒนาตัวเอง ทำไมไม่ลองขายดูล่ะ ถ้าเราเลือกเสื้อได้ เราก็เริ่มขายจากเฟสบุ๊คส่วนตัว ได้กำไร 300-500 บาท มันก็ทำให้เราอยู่ได้แล้ว จากที่แทบไม่มีเงินกินข้าวเลย เราทำงานไปพร้อมกับขายเสื้ออยู่ประมาณ 2-3 ปี พอเห็นว่ามีกระแสตอบรับค่อนข้างดี เราก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ตอนนั้นผมอยู่บ้านเช่า แต่เราก็จัดห้องเป็นสตูดิโอไว้ถ่ายรูป ถ้าลูกค้าอยากมาดูก็สามารถนัดล่วงหน้าแล้วเข้ามาได้ อย่างลูกค้าชาวต่างชาติเขาจะทักผ่านอินสตาแกรมมาว่า เขาจะถึงไทยวันนี้นะ สามารถเข้ามาดูเสื้อตอนไหนได้บ้าง

ทำไมต้อง ‘Knowwhere Studio’
โย : ตอนนั้นผมมีความคิดว่า อยากลองเปิดร้านในอินสตาแกรมดู แต่ก็ไม่รู้จะตั้งชื่อว่าอะไร แฟนก็บอกว่า Know Where Studio ดูไหม มันคล้ายๆ ว่า เราอยู่ตรงไหน คนก็รู้จักเรา

มูลค่าของเสื้อวินเทจขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง?
โย : เวลาที่เหมาะสมครับ สมมติว่าตอนนี้ปี 2020  เสื้อที่ผลิตในปี 2000 พออายุครบ 20 ปี ก็นับว่าเป็นเสื้อวินเทจแล้ว ยิ่งถ้าเสื้อตัวนั้นผลิตน้อย มีขายแค่หน้างาน 200 ตัว หรือถ้ามีคนดังหยิบเสื้อตัวไหนไปใส่ มูลค่าของเสื้อมันก็จะสูงขึ้น ผมมองว่า คนขายของวินเทจต้องมีเซ้นส์นะ อย่างตอนนี้กระแสเสื้อการ์ตูนมา คุณก็ต้องคิิดต่อว่า เสื้อลายต่อไปที่คนทั่วโลกจะเล่น มันคือเสื้ออะไร อย่างเสื้อปี 90s ทำไมมีราคาแพงกว่า 70s เพราะกระแสตอนนี้เป็นเทรนด์ยุค 90s เป็นสตรีทแฟชั่น ผมอาจจะโชคดีที่โตมาในช่วงนั้น พอเราเห็นว่าสิ่งนี้มันเคยฮิต เราก็สามารถหยิบมันมาทำให้มันมีมูลค่าได้ ถ้าคุณจะเป็นพ่อค้า คุณก็ต้องตามเทรนด์เหล่านี้เหมือนกัน

ตอนนี้ ‘Knowwhere Studio’เดินทางมาถึงปีที่เท่าไหร่แล้ว?
โย : ตอนนี้ก็น่าจะ 5-6 ปีได้แล้วครับ แต่ถ้านับช่วงที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ก็ประมาณ 3 ปีนะ จำได้ว่าช่วงแรกที่ขายเสื้อมือสอง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เกือบ 90% เลย เพราะตอนนั้นเราขายเสื้อตามพวกเว็บไซต์ต่างๆ ด้วย พอเริ่มรู้จักกัน เขาก็ขอให้เราส่งเสื้อให้เขาเลย โดยไม่ต้องผ่านเว็บไซต์ หรือบางคนเจอกันที่สวนจตุจักร คุยไปคุยมา เขาก็กลายเป็นเพื่อน เป็นลูกค้าประจำของเรา เวลาเขามาไทย เราก็จะพาเขาไปเที่ยว มันกลายเป็นมิตรภาพที่ต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้

ความแตกต่างของ ‘Knowwhere Studio’ กับร้านเสื้อมือสองทั่วไป?
โย : อย่างแรกเลย ทุกคนจะชอบถามว่า ทำไมเราถึงไม่อยู่ในแหล่งที่เขาขายเสื้อผ้าพวกนี้ อย่างตลาดนัดรถไฟ สวนจตุจักร แต่ตัวผมอยากทำร้านที่เป็นสแตนด์อะโลน เราอยากทำร้านให้มันโดดเด่น ทำให้คนอยากเข้ามานั่ง ถ้าคนไม่รู้จักผมเลย แต่คุณเห็นหน้าร้าน คุณก็อยากมาอยู่ดี ผมใส่ใจในเรื่องของการจัดร้าน หรือ การเลือกของเข้ามา มันค่อนข้างแปลกใหม่ อย่างเราได้เสื้อมา เราก็ต้องเอามาซัก ทำป้ายห้อย จัดเรียงตามเฉดสี รายละเอียดเหล่านี้ ผมมองว่า มันค่อนข้างแตกต่างจากร้านมือสองอื่นๆ

ความฝันของโย คือ การมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง?
โย : อืม.. มันเป็นความฝันสูงสุดของเราเลย อย่างที่บอกว่า เราเริ่มจากการขายออนไลน์ ขายในห้องเล็กๆ ของเรา แต่ในใจลึกๆ เราก็อยากให้คนเห็นว่า จากคนที่ไม่มีต้นทุนชีวิตเลย ตอนนี้เราประสบความสำเร็จแล้วนะ อย่างปีที่แล้วเราเปิดเป็นหน้าร้านเล็กๆ แถวลาดพร้าว เราก็ดีใจแล้วนะ ผมก็แอบงงตัวเองเหมือนกันว่า เรากลายเป็นคนที่มีหน้าร้านใหญ่ขนาดนี้ได้ยังไงนะ(หัวเราะ) ทุกวันนี้ผมไม่ได้มองว่า เราต้องขายได้เป็นล้านต่อเดือนนะ ผมแค่อยากทำตามฝันของตัวเอง แค่ได้มานั่งในร้าน ได้อยู่กับของที่เรารัก ได้อยู่กับร้านที่เราตั้งใจทำ แค่นั้นพอแล้วครับ

โยได้แรงบันดาลใจในการตกแต่งร้านมาจากที่ไหน?
โย : เมื่อสิ้นปีที่แล้ว ผมไปเค้าท์ดาวน์ที่ญี่ปุ่นมา ตอนนั้นผมเข้าร้านเสื้อผ้าบ่อยมาก เพราะชอบเข้าไปดูการตกแต่งในร้าน ใจเราอยากกลับไทยมาก อยากกลับมาทำร้านของตัวเอง ตลอด 15 วันที่อยู่ญี่ปุ่น ผมจะนั่งดูภาพร้านที่ถ่ายมา และเสิร์ชหาตึกเช่าทุกวันเลย พอกลับมาถึงไทย เราก็เริ่มมาดูทำเลจริงๆ ผมไม่รู้ว่าทุกคนเชื่อเรื่องนี้ไหม แต่ผมเชื่อว่าตึกนี้เลือกผม เพราะก่อนหน้านี้เาจะเช่าตึกด้านในซอยนี้ แต่แฟนผมบอกว่า อยากได้ตึกแถวนี้มากกว่า พอผมกลับมาอีกที ป้ายเช่าบ้านแผ่นใหญ่มันปลิวลงมาตรงหน้า คือผมตกใจเลย ก็เลยโทรหาเฮียเจ้าของตึก ตกลงเรื่องราคากันเสร็จ เราก็แปลงโฉมตึกเลย จากบ้านเก่าๆ โทรมๆ พอผมถ่ายรูปกลับไปให้เฮีย เขาก็ดีใจมากว่า ทำไมมันสวยแบบนี้

มีมุมไหนที่อยากแนะนำเป็นพิเศษไหม?
โย : จริงๆ ผมใส่ใจทุกมุมเลยนะ อย่างตรงสายเคเบิ้ลที่เป็นดิสเพลย์ห้อยเสื้อ ตอนที่ทำ ช่างเขาก็ถามว่า จะให้ซื้อมาทำไม เขามองไม่เห็นภาพ หรือราวข้างล่างที่เป็นนั่งร้าน เขาก็ถามเราว่า เราจะเอาไปทำก่อสร้างหรอ เราก็บอกพี่เขาว่า พี่ทำมาก่อนเลย เดี๋ยวเสร็จพี่ก็รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร (หัวเราะ)อีกอย่างเวลาเราไปต่างประเทศ เราก็ชอบซื้อของมาสะสมไว้ ผมมีโปสเตอร์ มีแผ่นเสียง มีเทป มีกรอบรูปมีหนังสือเกี่ยวกับเสื้อวินเทจให้ลูกค้าได้ดู มันไม่ใช่แค่ว่า คุณมาร้านแล้วได้เสื้อกลับไป แต่คุณอาจจะได้ความรู้เพิ่ม หรือมีมุมถ่ายรูปใหม่ๆ เราพยายามทำร้านให้มันเป็นแกลลอรีที่คนเข้ามาเสพย์งานศิลปะมากกว่า เพราะเสื้อแต่ละตัว ผมมองว่ามันไม่ใช่แค่เสื้อ แต่มันเป็นงานศิลปะที่ผมเลือกมาให้ลูกค้าได้ชมครับ

ตอนนี้สถานการณ์การระบาดของไวรัส covid-19 เริ่มดีขึ้นแล้ว โยมีแพลนว่าจะปรับตัวอย่างไรต่อไป?
โย : ช่วงที่ covid-19 กำลังระบาด เป็นช่วงที่เราพักมาทำร้านพอดี ตัวร้านก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ถ้าสถานการ์มันดีขึ้นกว่านี้ ผมอยากทำชั้นดาดฟ้าให้กลายเป็นบาร์เล็กๆ เพราะชั้นสามของร้านเรามีร้านสักของเพื่อนอยู่แล้ว ส่วนบาร์ด้านล่างจะมีน้ำ มีกาแฟ ขายอยู่แล้ว ลูกค้าก็จะได้ขึ้นมานั่งเล่นตอนเย็นได้ แต่ตอนนี้ด้วยสถานการณ์ต่างๆ เราก็ต้องหยุดไว้ก่อน

กว่าจะมาถึงจุดนี้ โยเองก็เคยผ่านจุดที่พลาดมาเหมือนกัน?
โย : ทุกวันนี้มีคนทักมาถามตลอดว่า พี่อยากมีความรู้เรื่องเสื้อเสื้อตัวนี้ขายเท่าไหร่มันมีไม่หรอกแหล่งที่สอน ก่อนที่เราจะขายได้แบบนี้ เราอยู่กับเสื้อมาเป็น 10 ปี เราแค่จับเนื้อผ้า เราก็รู้แล้วว่าเสื้อแท้หรือปลอม แค่เห็นสกรีนก็ดูออกแล้ว กว่าจะมีวันนี้เราเจ็บมาเยอะนะ ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยเจอของปลอม เมื่อก่อนเราก็เคยโดนหลอกขาย ผู้ใหญ่บอกว่าแท้ เราก็เชื่อเขา เพราะเราเจอของปลอม เราถึงรู้ว่าของแท้มันเป็นยังไงมันเป็นเรื่องของประสบการณ์ ไม่ใช่ว่า อยากรวยทางลัด แล้วทักมาถามว่า เสื้อตัวนี้ขายเท่าไหร่ 

ความสุขของโยที่ได้จาก ‘Knowwhere Studio
โย : ความสุขของผมมันง่ายมากเลย แค่ได้ขับรถมาร้าน ได้เปิดร้าน ได้มองเห็นของที่เราเลือกมา ได้จัดของ หามุมวางสวยๆ แค่ได้อยู่กับร้าน ผมก็มีความสุขแล้วนะ ต่อให้ไม่มีลูกค้าเข้ามาที่ร้านเลย ผมก็ไม่เครียดนะ เพราะของทุกอย่างมันมีคุณค่า ต่อให้วันนี้ผมขายไม่ได้ แต่ถ้าผมเก็บไว้อีก 10 ปี ผมอาจจะขายได้แพงกว่านี้ก็ได้ อย่างบางคนถามว่า ทำไมผมถึงถ่ายเสื้อหมาลงขาย ผมแค่อยากทำให้ทุกอย่างมันมีคุณค่า ไม่ใช่แค่การขายเสื้อที่มีราคาอยู่แล้ว มันอยู่ที่การนำเสนอของเราครับ

ในอนาคตจะเห็นโยทำอะไรต่อไปบ้าง?
โย : จริงๆ ตอนนี้ เราเริ่มทำสินค้าในแบรนด์ Knowwhere Studio แล้วเหมือนกัน มีแว่นตา ถุงเท้า เสื้อ กางเกง ที่จะปล่อยตอนเราเปิดร้านอย่างเป็นทางการครับ ส่วนความฝันอีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากทำ คือ ผมอยากเปิดร้านที่ต่างประเทศ ถ้ามีเงินทุนพอนะ (หัวเราะ)

ติดตาม Knowwhere studio ได้ที่
IG : Knowwherestudio


Credits
Text : Nitsanart Nilthongkum
Photographer : Patarit Pinyopiphat
VDO : Watcharapon Seangarunroj