คืนที่เทาเทาของ Morvasu : ศิลปินที่สนุกกับการหมุนของโลก

“แต่งเพลงนี้ในคืนที่เทาเทา” เราชวนมอร์คุยด้วยเนื้อเพลงท่อนแรกจากซิงเกิลใหม่ของเขาโดยที่เราเผลอใส่ทำนองลงไปโดยที่ไม่รู้ตัว – “แน่ะ…แสดงว่าติดหูล่ะสิ” เขาตอบกลับมาด้วยอารมณ์ขัน

จะว่าไปแล้ว เทาเทา ไม่ใช่เพลงแรกจาก Morvasu (มอร์ – วสุพล เกรียงประภากิจ) ที่ทำให้เราเกิดอาการเพลงติดหู เพียงไม่กี่เดือนก่อนเท่านั้นเองกับเพลง Melborne ที่มาพร้อมจังหวะสนุก ๆ ซึ่งใครหลายคนคงคุ้นกับประโยค Six in the Morning ไม่ต้องรีบนอน” ไม่มากก็น้อย

มอร์เป็นนักเล่าเรื่อง (เพิ่งได้นิยามหลังจากคุยกัน) ที่เราชอบ (มาก) ไม่ใช่แค่เพลงใหม่ 2 เพลงนี้เท่านั้น แต่รวมไปถึงผลงานที่เคยได้ปรุงแต่งกับเพื่อน ๆ ภายใต้ชื่อวง Ten to Twelwe อีกด้วย แม้สไตล์การดำเนินเรื่องจะเปลี่ยนไป แต่รสชาติที่ได้ก็เป็นความไพเราะที่แตกต่าง – ทั้งสองคือรสชาติที่เขาชอบ จะต่างก็เพียงเวลาเท่านั้น

และการเล่าเรื่องของเขาก็ไม่ได้จำกัดแค่ดนตรีเท่านั้น อีกบทบาทของมอร์คือกำกับโฆษณา ไม่ว่าจะด้วยเรื่องราวชวนสนุกหรือบทพูดที่ต้องฉุกคิด เรารับรู้ได้ว่าผลงานเหล่านี้ผ่านวิธีคิดที่ละเอียดไม่แพ้บทเพลงของเขา

เช่นเดียวกับเทาเทา แม้ทำนองฟังดูสนุก แต่รับรองว่ามีความเศร้าเจืออยู่เป็นแน่

“แต่งเพลงนี้ในคืนที่เทาเทา” คืนนั้นเป็นอย่างไร เล่าให้เราฟังได้ไหม
MOR :
คืนนั้นเป็นคืนที่นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย คิดวน ๆ ไปเรื่อย ๆ ซึม ๆ น่ะครับ ไม่ได้เศร้าแบบร้องไห้ เศร้าแบบหงอย ๆ งึม ๆ

ทำไมถึงเอาเนื้อเพลงเศร้าไปอยู่ในทำนองชวนสนุก
MOR : มันเป็นความสงสัยของเรามาโดยตลอด ถ้าแต่งเพลงเศร้า เราจะเอามันไปอยู่ในจังหวะสนุกได้ไหม ก็เลยลองเอามาทำจริง ๆ คือเพลงมันเศร้าล่ะ เนื้อหามันเศร้า แต่คนที่เศร้าอาจจะอยากเต้นรำกับมันก็ได้เพื่อมูฟออนไปสู่ความรู้สึกที่ดีขึ้น โดยเริ่มต้นจากความเทาเทานี่เอง

เช่นเดียวกับในเอ็มวี ดูแล้วชวนสนุกมากกว่าชวนเศร้า
MOR : ไอเดียของมิวสิควีดีโอนคือ คนที่นอนไม่หลับแล้วก็คิดวนไปเรื่อย ๆ จินตนาการไปเรื่อย ๆ พยายามจะมูฟออนจากความรู้สึกเทาเทา อย่างผมเอง เวลาเศร้าจะเป็นคนที่เล่นตลกกับความรู้สึกตัวเอง เวลาเศร้ามาก ๆ จะเล่นมุก ผมก็เลยอยากเอาพฤติกรรมนี้มาใช้ในเพลงนี้บ้าง มันเป็นการเล่นตลกกับความรู้สึกตัวเอง

เป็นการปลอบตัวเองไปด้วยรึเปล่า
MOR : จริง ๆ แล้ว พอมันเศร้า เราชอบเล่นตลกกับตัวเองเฉย ๆ มันน่าจะมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นแบบเรา ถึงเวลาเศร้าก็มักจะบอกว่า โอเคแต่จริง ๆ แล้วข้างในมันอาจไม่โอเคมาก ๆ

หรือว่าไม่อยากให้คนรอบข้างเป็นห่วง
MOR : อันนี้ก็มีส่วน อย่างเรา เวลาเศร้าก็ชอบเล่นมุกเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น อาจจะดูสมเพชตัวเอง แต่มันก็ทำให้ยิ้มได้ (หัวเราะ) แล้วก็เอาตรงนี้มาใช้ในมิวสิควีดีโอ

เป็นภาคต่อของเพลง Melbourne
MOR : เพลงไม่ได้ต่อจากMelbourneแต่ว่ามิวสิควีดีโอคือใช่ พอดีเห็นคนชอบ Melbourneเยอะ ก็เลยทำภาคต่อที่หักความคาดหวังคนดูดีกว่า จริง ๆ แล้วผมเป็นคนไม่ดีนั่นเอง (หัวเราะอีกครั้ง) ฉันชอบนางเอกจัง สดใสจังเลย น่ารักจังเลย(ทำเสียงสอง) งั้นเอ็มวีนี้เรามาทำลายความคาดหวังกันดีกว่าครับ

วิธีคิดเปลี่ยนไปด้วยไหม เมื่อแนวเพลงต่างไปจากฉบับแรกสุด
MOR : ตอนทำ Morvasu วิธีการเขียนเพลงคือ การชุ่ยแต่ใช่ แต่ละคำมันไม่ได้ดูคราฟท์เหมือนตอนทำ Ten to Twelve มันแค่ชอบคำนี้ ถ้ามันใช่ มันก็ใช่ แต่ก็ใช้เวลาเขียนนานเหมือนกันนะ

เป็นเรื่องของรสนิยม ณ ตอนนั้นและตอนนี้ด้วยรึเปล่า
MOR : มีส่วนครับ มันเป็นไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป บางประโยคผมก็แค่ชอบมัน มันเทา ๆ เซา ๆ แบบไม่ยอมหลับ” คือไม่ได้เป็นความหมายขนาดนั้น แต่มันให้ความรู้สึกชัดเจน มันดูซึม ๆ ดี

ตัวเราเองชอบการเปลี่ยนวิธีการคิดไปเรื่อย ๆ ไหม
MOR : ชอบครับ สนุกดี เราสนุกกับการปรับเปลี่ยนตัวเอง หรือเปลี่ยนวีธีการเขียนและวีธีการทำ อันนี้หมายถึงทั้งสองอาชีพเลยครับ ทั้งทำโฆษณาและดนตรี เราไม่อยากยึดติดกับการทำดนตรีแนวเดียวหรือว่าวิธีการเขียนเพลงแนวเดียว เรียกว่าเป็นการคิดค้นอะไรใหม่ ๆ กับตัวเองเรื่อย ๆ

เปลี่ยนไปตามความชอบของตัวเองหรือปรับไปตามตลาด
MOR : จริง ๆ เป็นความชอบล้วน ๆ เลยครับ เพราะเราไม่รู้ว่าคนในตลาดชอบอะไร มันเริ่มจากเราชอบเพลงแบบนี้จัง หรือตอนนี้อินกับเพลงนี้ แล้วพอสนใจจริง ๆ ก็จะเริ่มคิดว่า เราทำได้ไหม เหมือนเป็นการท้าทายตัวเองมากกว่า เฮ้ย เพลงแบบนี้เขียนดีจังเลย เราอยากแต่งเพลงเรื่องนี้ แต่เราอยากแต่งออกมาในทำนองนี้ เราจะทำได้ไหมนะ

นิยามแนวเพลงตอนนี้
MOR : เรียกว่าป็อปไปเลยก็ได้ เพราะดนตรีตอนนี้ผสมกันไปหมด มันไม่สามารถแยกได้แล้ว ว่านี่คือร็อค ป็อป อาร์แอนด์บี โซล หรือเร็กเก มันผสมกันไปหมดแล้ว ซึ่งสนุกดีครับ เราไม่รู้ว่าถนัดไหม แต่สนุกกับมัน จริง ๆ แล้วทุกครั้งตั้งแต่เด็ก ทำงานมาก็สนุกกับมันตลอด เพียงแค่ช่วงนี้ชอบอะไรมากกว่า

ความเศร้ามีข้อดีไหม
MOR : ความเศร้าเป็นข้อดีสำหรับเรานะ เวลาเศร้าจะได้ตรวจอารมณ์ตัวเอง ได้คิดกับชีวิตให้มันละเอียดขึ้น เพราะเมื่อความเศร้ามากระทบใจเรา เราต้องตั้งคำถามว่าทำไมเรามาเจอความเศร้านี้ ทำไมเขาถึงทำให้เราเศร้า เพราะเราทำอะไรเขารึเปล่า บางครั้งมันคือการกระทำและผลของมัน

อะไรที่มันมากระทบแล้วเกิดความรู้สึก เราก็จะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง แต่ถึงจุดหนึ่งก็ต้องคิดว่าพอแล้ว มูฟออนให้ได้ อันนี้เป็นตัวอย่างข้อดีของความเศร้า และอีกข้อดีก็คือ เราได้เพลง (หัวเราะ)

คือเพลงมันเศร้าล่ะ เนื้อหามันเศร้า แต่คนที่เศร้าอาจจะอยากเต้นรำกับมันก็ได้

จุดเชื่อมโยงระหว่างนักดนตรีกับนักโฆษณา
MOR : นักดนตรีกับผู้กำกับเป็นนักเล่าเรื่อง แค่มันเล่าอยู่บนคนละสารกัน นักดนตรี นักแต่งเพลง หรือว่าศิลปิน เล่าบนสารของเพลง แต่ว่าถ้าทำโฆษณา ทำมิวสิควีดีโอ มันเป็นภาพและเสียง มันเป็นการเล่าเรื่องเหมือนกัน การทำโฆษณาทำให้เรารู้จักคนอื่นมากขึ้น โจทย์คือคนอื่น แต่ถ้าทำเพลงคือรู้จักตัวเองมากขึ้น โจทย์คือเราเรารู้สึกอะไร แล้วเราอยากทำเพลงแบบไหนออกมา

ในฐานะผู้กำกับโฆษณา ต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง
MOR : 
ทุกอย่างครับ คำอธิบายของคนทำโฆษณาคือนักแก้ปัญหา ลูกค้าต้องมีปัญหาในแบรนด์ เขาถึงมาจ้างเรา ระหว่างทางมันจะมีปัญหาจำนวนมากที่ให้แก้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป แก้อย่างมีสติและมีศิลปะ

การได้ทำงานที่อยากทำ มันสำคัญต่อการเป็นมนุษย์ไหม
MOR : สุดท้ายแล้วมันแล้วแต่คน มันขึ้นอยู่กับว่า คุณให้อะไรสำคัญที่สุดในชีวิต บางคนเลือกครอบครัว เขาก็ไม่ผิดนะ ที่เขาจะทำงานอะไรก็ตามที่จะดูแลครอบครัวได้ หากเป็นเมื่อก่อน ถ้าถามผมสัก 6 ปีที่แล้ว ผมจะตอบว่า ใช่ครับ… เราต้องทำงานที่เราอยากทำเท่านั้น แต่พออายุมากขึ้น ปัจจัยมันเยอะ แต่ละคนมีลำดับการให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน ความถูกต้องมันไม่ตายตัว คำตอบคือไม่จำเป็นครับ

ชอบในความแตกต่างของมนุษย์รึเปล่า
MOR : มันเป็นสิ่งที่เราเพิ่ง… เรียกว่าเข้าใจไหมนะ เราเพิ่งได้เรียนรู้กับมัน สัก 3-4 ปีมาเอง ว่าคนเรามันไม่เหมือนกัน สมัยก่อนเราคิดว่ามันมีคำตอบแค่อันเดียว สมมุติว่ามีคนมาถามเรา “พี่ครับ ทำอย่างไรให้มันประสบความสำเร็จครับ”เมื่อก่อนเราจะมีแค่คำตอบเดียว คือ “มันคือต้องไปทางนี้!แต่พอโตขึ้นก็ได้เรียนรู้ เฮ้ย… แต่ละคนใช้เส้นทางไม่เหมือนกันในการไปที่เดียวกันและถนัดไม่เหมือนกันด้วย ซึ่งถ้าเราไปบังคับให้คนคนเนี้ย ไปเดินแบบเรา มันอาจจะไม่เวิร์คสำหรับเขาเลยก็ได้

เราได้เรียนรู้จากทีมงานและนักแสดงเยอะมาก บางคนต้องกำกับแบบนี้ถึงจะดี บางคนต้องไม้แข็ง บางคนต้องเป็นเพื่อนเขา บางคนปล่อยเขาไปเลย แค่บอกที่เราอยากได้ แล้วยกหน้าที่ให้เขา แต่ละคนมีวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน ซึ่งเราสนุกกับอะไรแบบนี้มาก

ทำงานแบบยืดหยุ่นไหม
MOR : ก็ในระดับหนึ่ง แต่เราจะมีสิ่งที่เราอยากได้ในงานแต่ละชิ้น ซึ่งมันชัดเจน มันตั้งเป็นโกลไว้ เรายืดหยุ่นกับวิธีการไปให้ถึงตรงนั้น ตราบใดที่มันได้ผลลัพธ์เดิม ไม่ใช่ว่า “พี่เลือกโซฟาสีแดงมา แต่ผมไม่มี ผมมีสีเหลือง”อันนี้ก็ไม่ได้ (หยุดคิดครู่หนึ่ง) ยืดหยุ่นในวิธีการทำงาน แต่ผลลัพธ์ต้องเหมือนเดิม

จัดการกับภาวะบ้างาน (Workaholic) อย่างไร
MOR : วิธีการจัดการก็คือ เราไม่ดีลกับ Workaholic ครับ (หัวเราะ) ตอนนี้เราเพิ่งได้กลับมาทำเพลงไปด้วย และก็เพิ่งมีคอนเสิร์ตไป ช่วงนี้เป็นช่วงปรับตัวว่าทำอย่างไร ให้ทั้งสองงานไปด้วยกันได้ เดี๋ยวได้ความว่าอย่างไรจะมาบอก

เรามีช่วงเวลาที่ทำงานหนักที่สุดในชีวิตคือ เข้าโรงพยาบาลไป 2 ครั้ง มีครั้งหนึ่งเราไปออกกอง แล้วอยู่ ๆ เราก็ป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งเรากลับทำงานในโรงพยาบาลไปด้วย เหมือนหนังเรื่องฟรีแลนซ์เลยครับ แม้เราอยู่ในเตียงผู้ป่วย แต่สมองก็ต้องรัน เราจะให้ใครรอเราไม่ได้ ตื่นมาก็ต้องประชุมกับเอเจนซี่ อยู่บนเตียงก็ต้องขายงาน ตลกดี พอมองย้อนไปก็บอกตัวเอง “เออ ๆ มึงก็พักบ้างนะ”ช่วงนั้นป่วยง่ายมาก และก็อารมณ์เกรี้ยวกราด เราไม่ค่อยชอบตัวเองเท่าไหร่ คนอื่นก็ไม่ค่อยชอบเราด้วย

เป็นตัวเองที่ไม่อยากเป็น
MOR : มันมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ครับ เวลานอน ร่างกายจะรักษาสมองจากด้านหลังไปด้านหน้า ซึ่งด้านหน้ามันเป็นเรื่องอารมณ์ โดยถ้านอนน้อยมันก็จะไปไม่ถึง เราก็จะเกรี้ยวกราดขึ้นถ้านอนไม่พอ ลองสังเกตดูครับ นอนวันละ 5-6 ชั่วโมง สัก 2 วัน วันต่อมาจะเกรี้ยวกราด เพราะว่าสมองส่วนหน้าที่ควบคุมอารมณ์มันไม่ทำงาน อย่างช่วงนั้นที่ทำงานหนักมาก ถึงจะไม่ได้นอนน้อยขนาดนั้น แต่มันก็จะมีอะไรในหัวตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นยันนอนเลย

มีวันที่ปิดสวิทซ์จากเรื่องงานไหม
MOR : ก็มีบ้าง นาน ๆ ทีครับ สมมุติว่าเล่นดนตรีดึกหรือว่าออกกองถึงตี 2 ผมก็จะเขียนว่า “นอน”ไว้ในคิว และก็อย่ามายุ่งกับกู… ถ้าเป็นไปได้นะครับ (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็จะขอคิวตอนบ่ายแทน เรื่องนอนเป็นเรื่องสำคัญ จริง ๆ ก็พยายามอยู่ ผมว่าการปิดสวิทซ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เหมือนคนเราเป็นต้นไม้คนละประเภท บางคนเขาเป็นแอปเปิล อย่างแอปเปิล 10 ปีแรกมันไม่เห็นผล แต่พอมันออกผลแล้ว มันออกรัว ๆ แต่บางคนเป็นกล้วย ผลมันมาเร็ว คนเรามันใช้เวลาเติบโตไม่เท่ากัน

อยากทำอะไรอีกไหม
MOR : (หยุดคิดครู่หนึ่ง) สมัยก่อนจะตอบว่าไม่มี พอดีเพิ่งคิดออก ฟังละดูห้าวไปนิดนึง แต่อยากเป็นครีเอเตอร์ครับ มันคือการทำคอนเทนต์ กำกับ และเล่นเอง อันนี้อยากลอง น่าสนุกดี คล้าย ๆ ว่าอยากลองทำอะไรเพิ่มดูบ้าง อยากลองทำโฆษณาที่เราครีเอทคอนเทนต์เอง กำกับเอง และก็เล่นเอง

และก็จะกลับมาทำงานหนักเหมือนเดิม
MOR : (หัวเราะ) เออว่ะ จริงด้วย ผมลืมเลย

Morvasu ในอนาคต
MOR : ปล่อยซิงเกิลไปเรื่อย ๆ ปีหน้า หากมีโอกาสก็อยากรวมอัลบัม จริง ๆ แล้ว ตอนนี้ทำเก็บไว้ประมาณหนึ่ง ว่าง ๆ ก็จะทำเรื่อย ๆ ตอนนี้มี 2 ซิงเกิลที่เป็นแนวเดียวกัน (Melbourne กับ เทาเทา)เป็นป็อปยุค 2020 แต่ว่าจะป็อปแขนงไหนก็แล้วแต่สิ่งที่มากระทบใจ

คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังตามหาตัวเอง
MOR : คำแนะนำ… (หยุดคิด) อันนี้เป็นคำถามที่เราเพิ่งเข้าใจใหม่สัก 2-3 ปีมานี้เอง เราจะตอบว่าไม่รู้ เพราะว่ามันไม่มีคำแนะนำที่เหมาะสำหรับทุกคน มันจะมีแค่เหมาะเป็นคน ๆ ไป ถ้าจะให้พูดก็คือ หาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองแล้วกัน ผมว่ามันคือคำนี้ล่ะ “หาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง”บางคนไม่ถนัดวิ่งเร็ว บางคนถนัดปั่นจักรยาน บางคนถนัดกระโดดเชือก แต่สุดท้ายก็ไปที่เดียวกัน เหมือนคนเราเป็นต้นไม้คนละประเภท บางคนเขาเป็นแอปเปิล อย่างแอปเปิล 10 ปีแรกมันไม่เห็นผล แต่พอมันออกผลแล้ว มันออกรัว ๆ แต่บางคนเป็นกล้วย ผลมันมาเร็ว คนเรามันใช้เวลาเติบโตไม่เท่ากัน

ติดตาม MORVASU ได้ที่
FACEBOOK : Morvasu
IG : Morvasu


Credits 
Photographer : Patarit Pinyopiphat
Text : Sithipong Tiyawarakul
VDO : Watcharapon Seangarunroj