เมื่อดนตรีบรรเลงขึ้นมาในวินาทีแรก เราอดคาดไม่ได้ว่า ถึงเวลาฟัง / hear(t). จะเป็นเพลงสบาย ๆ ซึ่งเราก็ไม่ได้คิดผิด แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดสักทีเดียว อัด-อวัช รัตนปิณฑะ และ ตน-ต้นหน ตันติเวชกุล กลับมาอีกครั้งในฐานะวง Mints แม้ห่างจากการออกเพลงใหม่นับปีกว่า แน่นอนว่าการทำเพลงยังเป็นสิ่งที่ทั้งสองต้องคิดถึง มาวันนี้พวกเขามาพร้อมกับเมโลดี้ชวนสนุกอีกเช่นเคย เพียงแต่ว่าเนื้อหาที่แนบมาด้วยนั้นซ่อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน นั้นคือปัญหาช่องว่างระหว่างวัย
ในวันที่เราไม่สามารถพูดคุยบางเรื่องกับคนใกล้ตัวได้เหมือนเคย ทัศนคติกลายเป็นอคติโดยไม่รู้ตัว ถึงเวลาฟัง ไม่ได้เป็นแค่ชื่อเพลงเท่านั้น แต่คือหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้ความไกลห่างนั้นแคบลง
ขอบคุณเพลงนี้ที่ทำให้เชื่อว่าทุกความต่างยังเดินร่วมทางไปด้วยกันได้ เข้าใจตัวเรา เข้าใจคนอื่น แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เปล่าเป็นไปไม่ได้
พบกับ MINTS อีกครั้ง
TONHON : เพลงล่าสุดของเรา ถึงเวลาฟัง พูดถึงพาร์ทที่ผมทำก่อนแล้วกัน หลัก ๆ เป็นพาร์ทดนตรี โจทย์แรกของผมคือได้รับเมโลดี้จากพี่อัด เป็นเมโลดี้ท่อนฮุค แต่ตอนนั้นท่อนฮุคที่ส่งมาเป็นเพลงช้า เป็นฮุคแบบช้า ซึ้ง ๆ เลย ซึ่งตอนนั้นผมอินพวกเพลงบริตป็อป (Britpop) เลยจับมาดัดให้เร็วขึ้น อยู่ในจังหวะสนุกสนานขึ้น แล้วทำดนตรีเป็นเพลงในโปรแกรม จากนั้นก็ลองฟังกัน ปรากฎว่าชอบ จึงกลายเป็นเดโม่เพลงเร็ว แล้วเพลงนี้ได้พี่แพท (สถาปัตย์ แสงสุวรรณ) เข้ามาช่วยเป็นโปรดิวเซอร์ ตอนแรกที่ผมคิดถึงเพลงนี้ ผมคิดว่าจะเป็นเพลงรัก แต่พอพี่อัดเขียนเนื้อมากลายเป็นประเด็นเรื่องสังคม เพลงยิ่งใหญ่ขึ้น ซึ่งพี่แพทเข้ามาช่วยให้เต็มขึ้น ใหญ่ขึ้นในพาร์ทดนตรี
UD_AWAT : ส่วนพาร์ทเนื้อร้อง เรื่องที่เราอยากสื่อสารเกิดจากช่วงที่เราหายไปปีกว่ากับการปล่อยเพลง เหมือนเรามีภารกิจทั้งคู่ในการทำนู่นทำนี่ ไปใช้ชีวิต เติบโตขึ้น ไปหาไดเรกชันใหม่ให้กับวง เลยกลายเป็นว่าพอกลับมา เรารู้สึกว่า เฮ้ย…เราอยากลองสื่อประเด็นให้มากกว่าแค่เรื่องความรัก เราคิดว่าตอนนั้นเราอินกับอะไร สถานการณ์ที่มันเกิด ที่เรารู้สึก เราอยากจะพูดเรื่องนี้มาก ๆ มันก็เลยไปสปาร์กกับประเด็นสังคมเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องของการฟัง
ซึ่งเพลงนี้อินสไปร์จากสถานการณ์ครูตัดผมนักเรียนเยอะ ๆ ที่เป็นคลิปปล่อยออกมา เรารู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาเรื้อรังหลายรุ่นมาก ๆ แล้ว ทุกครั้งที่นักเรียนตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงต้องตัดผมสั้น ทำไมเราถึงต้องตัดผมทรงที่ถูกบังคับ เหตุผลที่ได้ไม่เคยฟังขึ้นเลย ทุกครั้งที่มีการเรียกร้อง ทำไมผู้ใหญ่ถึงไม่ฟังกัน ทำไมเขาถึงไม่เลือกที่จะทำตามความเข้าใจ มันเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้ผมเริ่มสนใจเรื่องนี้ แล้วเราค่อยพัฒนาจากตรงนี้ไปเป็นประเด็นการเมือง เรื่องความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงไปถึงตรงไหนได้บ้าง แล้วเราก็จับจุดได้ตรงคำว่า ถึงเวลาฟัง เรื่องของการฟังมันสามารถเชื่อมโยงทุกคนได้ ทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ผู้ใหญ่ เด็ก คู่รัก ประเด็นนี้มันกว้าง แล้วเราอยากพูดสิ่งนี้
ไม่ใช่เพลงเฉพาะเจน (Genaration)
TONHON : เพลงนี้เป็นเพลงสำหรับทุกคนจริง ๆ ครับ ไม่ใช่แต่งมาเฉพาะเรื่องของเด็กกับผู้ใหญ่ เนื้อหาเราอยากสื่อสารให้ถึงทุกเจนครับ เพราะประเด็นเรื่องการฟัง เป็นปัญหาคลาสสิกมาก อย่างที่พี่อัดบอกคือมันมีในทุกความสัมพันธ์ บางทีเด็กเองก็ไม่ฟังผู้ใหญ่ อะไรหลายอย่างเราอคติว่า เฮ้ย…ไม่อยากทำตามเขาอ่ะ ก็คุณแก่แล้ว คุณก็อยู่เฉย ๆ เหอะ ซึ่งเราอยากให้ทุกเจนฟังกันจริง ๆ มากกว่าเดิม
UD_AWAT : ในฐานะมนุษย์ เราทุกคนเชื่อในความต้องการของตัวเอง มันกลายเป็นว่าทุกคน เมื่อถึงจุดหนึ่ง มันก็จะมีจุดที่เชื่อตัวเอง อีโก้บางอย่าง มันทำให้เราฟังน้อยลง ซึ่งผมรู้สึกว่า เนี่ย…คือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราต้องเรียนรู้ ต้องมีสติกับมัน บางอย่างอย่าให้อารมณ์มาครอบ หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่เราไม่ชอบ มันเป็นพ้อยท์ที่เราก็เตือนตัวเองเหมือนกันนะ
ถ้าวันหนึ่ง สิ่งที่เราเคยคิดว่าใช่ กลับเป็นสิ่งที่ผิด
TONHON : สิ่งที่เราเชื่อในวันนี้ แล้วในอนาคตข้างหน้ามันอาจไม่ได้เป็นแบบนั้น จะพลิกไปพลิกไป คือมันเป็นเรื่องปกตินะ เราก็แค่ต้องยอมรับถ้าเราผิดพลาด เหมือนทุกเรื่องในชีวิต ไม่ว่าคุณทำอะไรพลาดไป ก็แค่ต้องยอมรับมันว่าในวันหนึ่งเราเคยพลาด ซึ่งจริง ๆ แล้ว สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ มันมีตลอด แล้วทุกคนในสังคมปัจจุบันประสบกับสิ่งนี้ คนเรามันเปลี่ยนไปทุกวันครับ คนเรามันไม่เหมือนเดิมในทุก ๆ วัน เราเจออะไรที่ไม่เหมือนเดิม ตัวผมเมื่อวานกับวันนี้ยังคนละคนกัน แล้วยิ่งเราเจอเรื่องราวไม่เหมือนกัน ในอนาคตความเชื่ออาจไม่ได้เป็นเหมือนทุกวันนี้ ถ้าเราเชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือเวลาทำให้มันเปลี่ยน ทำได้แค่ยอมรับตัวเองในอดีต และรับผิดชอบในสิ่งที่ทำไว้
UD_AWAT : ผมเสริมต้นหนนิดหนึ่ง ซึ่งมันก็คือเรา ณ ปัจจุบันครับ เราไม่มีทางรู้อนาคตได้ว่า สิ่งที่เราเชื่อ ณ วันเนี่ย มันจะไปผิดในอนาคตหรือเปล่า เราไม่สามารถรู้ได้เลย เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ ถ้าเราเชื่อแล้ว เราตรวจสอบมันดีแล้ว เราศึกษามันดีแล้ว เราจะเชื่อแบบเนี่ย ก็ต้องเชื่อมันไป เราไม่สามารถไปฝืนอนาคต เราไม่สามารถไปรู้มันได้จริง ๆ อย่างที่ต้นหนบอกว่าวันนึงถ้าเกิดว่าเราเชื่ออย่างเนี่ย มันถูกพิสูจน์ในอนาคตว่ามันเป็นสิ่งที่ผิด มันไม่ยากเลย ผมรู้สึกว่ามนุษย์มันทำผิดพลาดได้ ถ้าเราผิดพลาด เราแค่ยอมรับ เราแค่ขอโทษ แล้วก็หาวิธีไปต่อ ชีวิตมันเท่านี้
พยายามเตือนตัวเองเหมือนกันนะ ว่าวันหนึ่งถ้าเกิดเราทำผิดพลาด เราจะต้องไม่เป็นคนที่มีอีโก้ แล้วยึดว่ากูไม่ผิดอะ ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้ทำให้สังคมเดินไปต่อไม่ได้ หรือชีวิตเราไปต่อยากขึ้น เพราะเราไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้ มันกลายเป็นว่าก้อนที่มันอยู่ในใจ มันไม่มีวันหายไป ถ้าเราไม่ยอมรับมัน
การยอมรับความจริง เป็นเนื้อหาของเพลงเราด้วย
UD_AWAT : ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จงยอมรับมัน จงเปิดใจให้กับมัน แล้วก็เรียนรู้ซะว่า อ๋อ! สิ่งที่มันไม่ดีอ่ะ มันอาจจะต้องเปลี่ยน อาจจะต้องทิ้งมันไป ซึ่งไอ้สิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากสื่อสาร จริง ๆ แล้วสิ่งที่มันเคยดีในอดีต มันไม่ได้แปลว่ามันต้องดีในปัจจุบัน คือคุณต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปกับปัจจุบัน สิ่งที่เราเชื่อในวันนี้ ในอีกสิบปี ในอนาคตมันอาจไม่ดีก็ได้ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว ทุกช่วงวัยมีเวลาของเขา เราต้องอย่าไปฝืนกาลเวลาว่าทุกช่วงเวลามันคือของเรา ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราต้องหมุนไปตามโลก
คำว่า “One” ในเนื้อเพลง หมายถึงใคร
TONHON : ท่อนนั้นเป็นเมโลดี้ที่ผมคิดขึ้นมาตอนลองทำเพลง ที่ผมบอกว่ามันเป็นเพลงรัก ผมก็เลย “I can be the one ฉันอยากเป็นคนที่เธอรัก” อะไรแบบนี้ (หัวเราะ) แต่กลายเป็นว่าท่อนนี้เป็นท่อนสุดท้ายที่เราคิดว่าจะแก้อย่างไร เพราะมันหาคำลงยาก ท่อนอื่นคือใส่เมโลดี้ ใส่เนื้อหมดแล้ว พี่อัดเขียนไปปุ้บ ท่อนนี้คิดไม่ออก เลยคุยกันว่า เออหรือเอาอย่างนี้วะ ตอนแรกแค่มี “I can be the one” ร้องวน ๆ ตอนนี้ก็เลยมี “You can be the one” เพิ่มขึ้นมา อันนี้ได้อินสไปร์มาจากคุณแม่ผม แม่บอกว่า ก็ลองเปลี่ยนเป็น “You can be the one” สิ ประมาณว่า ฉันเองก็เป็นคนที่เปิดใจรับฟังได้ คุณเองก็ได้ คือ Mints ชุดใหม่ที่เราจะทำตั้งแต่เพลงนี้เป็นต้นไป เราอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับคนเจเนอเรชั่นเรา เราอยากให้คนฟังรู้สึกอยากเป็นเพื่อนเรา เพราะฉะนั้นท่อนนี้ก็อยากบอกว่า “You can be the one” เฮ้ย กูก็ต้องทำได้ มึงก็ทำได้ เริ่มเปิดใจรับฟัง เริ่มจากตัวเองครับ
UD_AWAT : เป็นการเล่นเรื่องการสื่อสาร มีทั้ง I มีทั้ง You แล้วเขาก็สามารถเอาตัวเองเป็น I แล้วส่งต่อให้คนอื่นเป็น You ได้เหมือนกัน เป็นเรื่องของการรับฟัง
ทัศนคติต่างกัน แต่ครอบครัวเดียวกัน เราจัดการช่องว่างนี้อย่างไร
TONHON : ผมสนิทกับคุณพ่อคุณแม่ แต่ถ้าถามว่า Generation Gap (ช่องว่างระหว่างวัย) มีไหม… มี! (หัวเราะ) เราไม่เคยคิดเลยนะว่า เราถูกเลี้ยงดูมาด้วยพ่อแม่ซึ่งสนิทกับเรามาก ๆ คุยกันได้ทุกเรื่อง แต่จนถึงวันหนึ่งมันก็มีช่องว่างขึ้นมา เป็นระยะห่างอะไรบางอย่างที่เหมือนเราก็มีพื้นที่ของเรา ซึ่งบางเรื่องเราก็ไม่สามารถพูดกับเขาตรง ๆ ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียนรู้อยู่นะสำหรับในช่วงวัยนี้ ว่าเราควรจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร คือมันมีความไม่เข้าใจกันเยอะมากอยู่เหมือนกัน เรื่องความเชื่อที่แตกต่างกันในระหว่างวัย ซึ่งจริง ๆ แล้ว คุณพ่อผมเป็นคนวัยรุ่นมาก เสื้อผ้าก็ยืมพ่อใส่บ่อย แต่ว่ามันมีชุดความคิดบางอย่างที่เราไม่สามารถคุยได้จริง ๆ หรือว่าคุยกันแล้วทะเลาะกันตลอด ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ผมกำลังเรียนรู้อยู่ว่าเราจะรับมือกันอย่างไร แล้วคุณต้องเปิดใจรับฟังเขาอย่างไร คุณต้องสื่อสารสิ่งที่คิด ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ คือเราชอบใส่อารมณ์กับคนใกล้ชิด ยิ่งสนิทมาก เรายิ่งกล้าที่จะทำอะไรไม่ค่อยดีใส่เขา อันนี้เป็นสิ่งที่ผมพยายามปรับตัวแก้ไข แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ทุกวันนี้เรื่องเพลงหรือเรื่องอะไรก็ปรึกษาพ่อแม่ครับ
UD_AWAT : ปกติผมมีสเปซของตัวเองกับที่บ้านอยู่แล้ว แต่จะคุยได้บางเรื่อง พอโตขึ้นบางเรื่องจะคุยได้ลึกขึ้น แต่ก็เป็นแค่บางเรื่องนะครับ หลาย ๆ เรื่องตอนแรกก็คุยแล้วตีกัน หลัง ๆ คือเราก็รู้สึกว่าเราอยากเข้าใจ อยากเรียนรู้เขา มันเลยทำให้ต่างคนต่างฟังกันมากขึ้น ถึงความคิดบางอย่างมันไม่ตรงกัน แต่รู้สึกว่าการได้เปิดใจรับฟังเขาจริง ๆ ทำความเข้าใจเขาจริง ๆ ทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น อะไรที่มันเป็นปัจจัยว่าทำไมเขาคิดแบบนั้น แล้วเราก็กลับมามองย้อนตัวเองว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เราคิดแบบนี้ แล้วเราเปลี่ยนเขาอย่างไร เราเลือกที่จะแชร์บางอย่างกับเขาอย่างไร มันคือการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่จะฟัง เราหาวิธีการพูดคุย หาวิธีการสื่อสารที่มันเหมาะสมในการคุยแต่ละประเด็นหรือแต่ละคน
ยังเป็นสิ่งที่ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกัน
TONHON : เราว่ามันเป็นเรื่องปกติครับ หมายถึงว่าวันหนึ่งพวกผมโตไปก็อาจจะคุยกับลูกไม่รู้เรื่อง ต่อให้เราพยายามจะเลี้ยงเขาแบบเป็นเพื่อนขนาดไหน มันมีปัจจัยอื่นนอกจากที่บ้าน ออกไปนอกบ้าน ออกไปเจอสังคม เจอเพื่อน มีความรัก เห็นข้อมูลข่าวสารอะไรที่สามารถเสพได้เอง คือมันเป็นเรื่องปกติมาก ๆ
UD_AWAT : มันเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมที่โตกันมา ถึงแม้ว่าจะอยู่บ้านเดียวกัน แต่ชีวิตทุกคนไม่ได้อยู่ด้วยตลอด 24 ชั่วโมง บางทีไปอยู่ในโลกโซเชียลแค่ 2 ชั่วโมง ก็สามารถได้รับอิทธิพลจากข้อมูลที่แตกต่างกัน ซึ่งกลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้แหละที่จะหล่อหลอมให้มันเกิดความคิดคนละแบบกัน ยิ่งเราโตขึ้นเราก็จะมีความคิดเป็นของเรามากขึ้น บางอย่างเหมือนเราอยู่ในโลกของตัวเองมากขึ้น มันเลยไม่แปลกที่จะเกิดช่องว่างทางความคิดระหว่างวัยเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ครับ ซึ่งสิ่งที่มันต้องทำก็ต้องยอมรับแหละ ว่านี่คือความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้น เราไม่สามารถที่จะเข้าใจคน ๆ หนึ่งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เพียงแต่เราควรคิดว่า จะหาทางอยู่ร่วมกับเขาอย่างไร คนเรามันไม่ต้องคิดเหมือนกันทั้งหมด คิดเพียงแต่ว่าสุดท้าย เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร มารยาททางสังคมที่เราต้องมีต่อกัน ควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ต่อกัน ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้สำคัญมากกว่า คือถ้าเราเข้าใจ เคารพในสิทธิเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน แต่เราต้องเข้าใจในความเป็นมนุษย์ เราต้องเรียนรู้การอยู่บนความต่าง เพราะเราไม่มีทางได้อยู่กับทุกคนที่เหมือนกัน
TONHON : ทุกคนเหมือนกันก็ไม่สนุก มันก็ไม่ใช่โลก ไม่ใช่มนุษย์ มันคืออะไรก็ไม่รู้… หุ่นยนต์?
เราชอบความหลากหลายหรือเปล่า
TONHON : ไม่ได้ชอบขนาดนั้น แต่มันคือความจริงที่โลกมันเป็นอย่างนี้ ทุกคนไม่ได้ถูกโปรแกรมมาให้เหมือนกัน
UD_AWAT : ทุกคนมีความเป็นปัจเจก และสิ่งนี้นี่แหละ ถ้าเราเรียนรู้ เราจะเข้าใจมุมต่าง ๆ เยอะขึ้น มันลึกขึ้น มันอาจทำให้เราเจอพ้อยท์ หรือความน่าสนใจของโลกที่มันหลากหลายขึ้น แล้วมันทำให้เราเปิดกว้างกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ถ้าเรารู้ว่า เออ…คนทุกคนต้องเป็นแบบนี้ ใครไม่เป็นแบบเรา หรือคิดไม่เหมือนเรา เรารับไม่ได้ เรายอมรับไม่ได้ ก็กลายเป็นว่าจากโลกของคุณที่คิดว่ามันกว้างแล้ว จริง ๆ มันแคบลงเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่โลกมันกว้างใหญ่ แล้วคุณตัวเท่านี้เอง มันยังมีคนที่ต่างอยู่อีกหลายร้อยล้านเฉดมาก มันคือการเปิดรับ
วิธีการเรียนรู้การเป็นมนุษย์
UD_AWAT : มันคือการที่เราพร้อมเข้าใจ พร้อมเรียนรู้ เหมือนที่เราตอบไปว่า เออ ผิด มันก็คือผิด ไม่ว่าจะผิดเล็กผิดน้อยก็คือผิด ผิดแล้วต้องทำไง? ผิดแล้วฝืนรังไปก็มีแต่พัง ผิดก็แค่เรียนรู้และยอมรับ แล้วก็ก้าวเดินต่อไป สุดท้ายแล้วคนรอบข้างที่เรากระทำผิดด้วย เขาจะตอบโต้อย่างไรกับเรา อันนั้นก็เป็นผลที่เราต้องยอมรับ สุดท้ายชีวิตต้องไปต่อ แต่เราทำอย่างไรให้เราไม่เสียใจในภายหลัง หรือไม่รู้สึกผิดกับตัวเรามากเกินไป
TONHON : ให้อภัยตัวเอง เคยคุยกับพี่อัด ประเด็นว่าที่เราเจอทุกวันนี้ โลกมันใจร้ายมาก สำหรับผม ผมค่อนข้างเป็นคนมองโลกในแง่ดี เราเป็นคนให้อภัยตัวเองเก่ง มักพูดว่าก็ไม่เห็นเป็นไรเลย เคยคุยกันเรื่องช่างแม่ง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผมไม่สามารถทำได้ หรือพี่อัดก็ไม่สามารถทำได้ในหลาย ๆ ครั้ง ก็ไม่เป็นไร เอาใหม่ เรายอมรับมันไป แค่เดินหน้าต่อ
ผลงานต่อ ๆ ไปของ Mints จะเน้นไปที่ปัญหาสังคม?
TONHON : ไม่ได้ตั้งใจเป็นแบบนั้น คือเพลงต่อไป เมโลดี้ที่เราทำอยู่ก็เป็นเพลงรักนะ เราพูดแทนความเป็นตัวตนของเจนนี้ ซึ่งจริง ๆ มันมีหลายแง่มุม หลายเฉดมาก อย่างเพลงต่อไปจะเป็นเพลงรัก เพลงบ่น มีเพลงที่กำลังทำอยู่หลากหลายมาก ๆ อยู่เหมือนกันครับ เราอยากเป็นตัวแทนของเจนพวกเรา
UD_AWAT : คือมันมีจุดเชื่อมระหว่างตัวตนของทั้งสองคนมารวมกัน อย่างตัวผม ก็จะอินกับเรื่องสังคม เรื่องความเป็นมนุษย์ แต่จะเล่ามุมนั้นอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องหาแง่มุมอื่น ๆ ซึ่งต้นหนก็มีแง่มุมเรื่องความรัก มันอาจต้องเบลนด์เข้าด้วยกัน ผมว่ามันคือการเอาคาแรคเตอร์สองอันมาขยำรวมกันแหละ ซึ่งหลังจากนั้นคนก็น่าจะได้เห็น ทั้งเรื่องสังคม เรื่องความรัก ทุกมุมมองการใช้ชีวิตต่าง ๆ แต่ทั้งหมดเป็นมุมที่เล่าว่า ณ วันนี้เด็กรุ่นใหม่เจออะไรอยู่ พวกเราเจออะไร รู้สึกอะไร สู้เพื่ออะไร
มิวสิควีดีโอมีซ่อนความหมายอะไรแน่ ๆ สปอยด์เราได้ไหม
TONHON : อันนี้เป็นเนื้อเรื่องที่พี่ก๋วยเตี๋ยว (จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์) ผู้กำกับคิดขึ้นมา เราจะเล่นเรื่องการยอมรับความจริงครับ เหมือนในท่อนที่ร้องว่า “ยอมรับความจริงที่ได้เกิด” เพราะฉะนั้น เรื่องของลุงเล่นสเก็ตบอร์ดคือ เราให้เป็นโลกเสมือน เป็นโลกที่เขาอยากจะเป็นแบบนั้น แต่ว่าจริง ๆ แล้ว เรายังนั่งอยู่เฉย ๆ แล้วก็แค่ใส่วีอาร์ แต่สุดท้ายลุงก็จะไปเล่นสเก็ตบอร์ดจริง ๆ สรุปว่ายอมรับความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้น อย่ามัวแต่อยู่ในโลกความฝัน ให้ลงมือทำจริง ๆ แล้วมีอีกประเด็นนึงคือประเด็นเรื่องเด็กนักเรียนชายที่อยากใส่กระโปรง เครื่องแบบโรงเรียนหญิง ซึ่งในวีอาร์ เขาจะเห็นว่าพอใส่มาแล้วพ่อแม่ก็แฮปปี้ แต่ในโลกความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ซึ่งอันนี้อยากสื่อถึงพ่อแม่หรือคนรอบข้างด้วย ลองยอมรับหรือเปิดใจสิ่งใหม่ ในสิ่งที่มันเกิดขึ้น
UD_AWAT : ยอมรับตัวตนของตัวเอง ลุกขึ้นไปทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ การทุบวีอาร์คือ โอเค… เรากลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ลุกขึ้นไปทำในสิ่งที่เราอยากทำ โดยที่ไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น
ในด้านคนรุ่นใหม่เอง มีอะไรที่เราเริ่มแก้ไขหรือปรับได้ก่อนบ้าง
TONHON : สำหรับผมนะครับ อยากให้ทุกคนใจเย็นลง เราเข้าใจว่าทุกวันนี้ โลกมันไปเร็วมากจริง ๆ หมายถึงตัวเองด้วยนะ บางทีผมก็ต้องใจเย็น ๆ เหมือนกัน ยิ่งก่อนที่จะโพสต์อะไร พอข้อมูลข่าวสารมันเยอะ โลกโซเชียลทุกอย่างมันเร็วมาก เราอยากให้ทุกคน คุณ ทั้งเพื่อน ทั้งผม หรือน้อง ๆ อยากให้ใจเย็นก่อนที่จะโพสต์ข้อมูลอะไร ซึ่งมันจะอยู่ไปอีกนานเลย ลองศึกษาข้อมูลก่อน คุณเชื่ออย่างไรมันไม่ผิด หมายถึงผู้ใหญ่ด้วยนะ จริง ๆ มันพูดได้ทุกคน คุณเชื่ออย่างไรไม่ผิด แต่ขอแค่ว่าศึกษามันให้ได้อย่างถ่องแท้ ให้ได้อย่างดีก่อน เด็กชอบบอกว่าผู้ใหญ่ไม่ฟังเด็ก เพราะชอบหาข้ออ้างว่าเด็กก็ยังเป็นเด็กอยู่ อย่าง คุณยังเด็กอยู่ ไม่รู้อะไร เด็กก็อย่าไปพูดกับผู้ใหญ่ว่า คุณแก่แล้ว คุณไม่รู้อะไร ให้เด็กจัดการ ซึ่งจริง ๆ แล้วสุดท้ายปัญหาพวกนี้ มันสำคัญกับทุกเจน
UD_AWAT : ปัจจุบันเราค่อนข้างอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดตลอดเวลา มันมีภาพหรือเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เรารู้สึกเดือดดานโกรธตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือเราต้องมีสติ เราต้องอย่าตอบโต้ทุกอย่างโดยอารมณ์ บางครั้งเราเข้าใจว่า ทุกคนสามารถเกิดอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ เพียงแต่ว่าการตอบโต้เราอาจต้องมีสติในการเรียบเรียงระหว่างการใช้คำพูด เราต้องมีวิธีการศึกษาที่ฉลาด ไม่ให้เขามาโจมตีเราได้ คือผมรู้สึกว่าถ้าเราโกรธแล้วเราตอบโต้ด้วยอารมณ์ มันสามารถโยงไปได้แบบเดียว รุนแรงจัง ก้าวร้าวมากเลย ซึ่งบางทีมันก็อาจจะเป็นเหมือนคนที่เราไม่ชอบ ทำไมเขาต้องด่าเราแบบนี้ ใช้น้ำเสียงเราแบบนี้ บอดี้ เชมมิ่ง (Body Shaming) ทำไมต้องเหยียดกัน ซึ่งบางครั้งสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นกับเรา หรือคนรุ่นเราโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะว่าปล่อยให้อารมณ์มาครอบเรา เราขาดสติในการตอบโต้ ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้สำคัญมากเหมือนกัน วิธีการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก รวมไปถึงว่าเราไม่ได้กลายเป็นคนที่เราไม่ชอบไปด้วย ใจเย็น ๆ ผมว่าทุกอย่างมันใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นก็มีสติ ระวังในการใช้คำพูด เพราะบางครั้งคำพูดของคุณมันอาจไปทำให้คน ๆ นึงเขาเจ็บปวดไปตลอดชีวิตก็ได้
TONHON : เราอย่าเป็นแบบที่เราไม่ชอบ นึกออกไหม มีสติมาก ๆ ว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ บางทีคนอื่นเขาก็ไม่ชอบ
UD_AWAT : มันคือการเห็นอกเห็นใจคนอื่น ท้ายที่สุดแล้ว บางทีเราไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ว่าเราไปทำความเข้าใจเขาหน่อย ว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น สภาพแวดล้อมทำให้เขาคิดแบบนั้น เขามีความเชื่อแบบนั้นเพราะอะไร สุดท้าย โอเค เราไม่เห็นด้วย ไม่เป็นไร แต่ก็เข้าใจว่าเขาโตมาแบบนั้น เขาไม่ได้อยากเป็นแบบนั้นสักทีเดียวหรือเปล่า สภาพสังคม การเติบโต มันบังคับให้เขาต้องเป็นแบบนั้น สุดท้ายถ้าเราไม่คิดแบบเดียวกัน ก็อย่าไปเสียเวลาให้มันเหนื่อย ปวดสมองของเรา บางครั้งคือเราตั้งใจที่จะสื่อสาร แต่ถ้าสุดท้ายมันคุยไม่รู้เรื่อง ก็คงต้องปล่อย เพราะบางอย่างมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็แค่เดินทางในเส้นทางของเรา
เมื่อเยาวชนตระหนักสิทธิตัวเองมากขึ้น
UD_AWAT : ผมรู้สึกว่าสมัยก่อน เราถูกปิดกั้นเรื่องการเมือง มันเป็นเรื่องที่ไกลตัว เป็นเรื่องที่อย่าไปยุ่งเลย เพราะว่าในอดีตอาจยังไม่มีโซเชียลมีเดียที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าสื่อโซเชียล มันส่งผลกับคนรุ่นใหม่ ทุกคนสามารถอ่านข่าวการเมืองได้ทุกวัน ทุกคนสามารถเห็นสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองได้ทุกวัน มันจึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่สนใจสิ่งเหล่านี้ เขาตระหนักถึงสิทธิตัวเองมากขึ้น เพราะเขารู้สึกว่าทุกวันเขาเห็นข้อมูลเหล่านี้ เดี๋ยวค่ารถไฟฟ้าขึ้นแล้วเราควรเดินทางอย่างไร เห็นฟุตบาทไม่ดี อ่าว แต่เราจะต้องเดินไปโรงเรียน แล้วเดินข้ามทางอย่างไรให้ปลอดภัย เห็นข่าวเรื่องความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น กฎหมายหรือข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อะไรอย่างนี้ พอเขาเห็นสิ่งเหล่านี้ทุกวัน มันเข้ามาถึงโดยที่บางทีเขาอาจไม่สนใจนะ แต่โซเชียลมีเดียมันบังคับให้เขาเห็นข้อมูลเหล่านี้ มันจึงไม่แปลกที่พอเริ่มเห็น ก็เริ่มตั้งคำถาม พอมันเริ่มตั้งคำถาม มันก็อยากรู้มากขึ้น ผมว่ามันเป็นวัยที่ต้องการคำตอบ ยิ่งได้รับคำตอบว่ามันไม่มีอะไรหรอก มันก็เป็นมาแบบนี้แหละ อย่าไปสนใจ มันยิ่งอยากรู้ เด็กทุกวันนี้ยิ่งคุณปิดเขา เขายิ่งอยากรู้
มันเหมือนในอดีต ผู้ใหญ่มีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง แต่เด็กทุกวันนี้มีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง พอมันปิดกั้นไปมา ยิ่งกลายเป็นว่าทำให้เขาสนใจมากขึ้น แล้วเขาลงลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่าคนก่อน ๆ ด้วยซ้ำ เลยรู้สึกว่าหรือนี่คือสาเหตุที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาสนใจ ออกมาขับเคลื่อนเรื่องของสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่สถาบันครอบครัว โรงเรียน รวมไปถึงในภาคระดับประเทศ ผมรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แล้วในอนาคต ผมว่าเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไป สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในตัวเขา อยู่ในความสนใจ ในอนาคตเราอาจเห็นเด็กประถมออกมาเรียกร้องสิทธิก็ได้นะ
ซึ่งเราชอบ
UD_AWAT : ชอบนะ อย่างเราเนี่ยกว่าจะสนใจก็ตอนมหาลัยแล้ว ก่อนหน้านี้ ช่วงที่ผ่านมาเราโดนปิดว่าอย่าไปสนใจมัน มันอาจเป็นการหาเรื่องเข้าตัว มันอาจมีคนไม่ชอบเรา วางตัวเป็นกลางดีกว่า ซึ่งเราโตมาแบบนี้ จนถึงวันหนึ่งที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย…ไม่ได้แล้วว่ะ มันเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้องเต็มไปหมดเลย แล้วเราจะไม่สนใจมันได้จริง ๆ เหรอ ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับเรา การเมืองมันอยู่ในชีวิตเรา ภาษีที่เราจ่าย ทางเท้าที่เราเดิน อากาศที่เราสูด
TONHON : คุณยังไม่ต้องทำงานก็ได้ ซื้อของก็มีภาษีแล้ว
UD_AWAT : พอมันเป็นสิ่งที่อยู่กับเรา เรารู้สึกว่าเราละเลยมาเยอะเหมือนกันเนอะ เอาง่าย ๆ ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพถนนแถวบ้าน ตั้งแต่สมัยเราประถมจนถึงวันนี้ มันก็ยังเหมือนเดิม ก็เลยรู้สึกว่านี่คือเรื่องการเมือง ที่ผ่านมาทำไมเราถึงละเลยมันได้ขนาดนี้ ทำไมเราถึงไม่รู้ว่าสิ่งนี้มันเกี่ยวกับการเมือง รู้สึกว่าโอเคดีที่คนรุ่นใหม่สนใจสิ่งนี้ แล้วเราก็รู้สึกว่าอนาคต ถ้ามันจะเปลี่ยนแปลงพลังมันจะเยอะขึ้น
กรอบของการทำงานศิลป์อยู่ตรงไหน
UD_AWAT : ผมมองว่างานศิลป์คืองานที่เราจะทำอะไรก็ได้ มันไม่ควรมีกรอบ ผมรู้สึกว่างานศิลป์ควรเป็นเสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) เราควรสื่อสารอะไรก็ได้แบบที่เราคิด มันไม่ควรมีกรอบ แล้วผมรู้สึกว่างานศิลป์มันสะท้อนสังคม งานคนต่างชาติก็สะท้อนยุคสมัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สงคราม การเมือง มันเป็นแบบนี้มาตลอด จากประเด็นที่มันเกิดขึ้น (กรณียึดงานศิลป์ที่ มช.) เราไม่เห็นด้วยกับการจำกัดเสรีภาพว่าต้องห้ามพูดเรื่องการเมือง ผมรู้สึกว่าศิลปะมันคืออะไรก็ได้ แต่คนที่มาจำกัดกับศิลปะ ว่ามันต้องเป็นแบบนี้ นั่นเขาไม่ได้มองว่าศิลปะคือศิลปะ
TONHON : หมายถึงเรื่องเพลงด้วย เพราะเพลงคือศิลปะอย่างหนึ่ง ต่างชาติทำอย่างนั้นมาตั้งนานแล้ว งานศิลปะมันเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยนะ ว่าในช่วงนั้นเป็นอย่างไร ศิลปะมันบันทึกเรื่องราวได้เยอะมาก
ตอนนี้เราทำได้เต็มที่ไหม
UD_AWAT : ยังรู้สึกว่าเราแสดงออกได้ไม่เต็มที่ พูดง่าย ๆ อย่างเรื่องวงการภาพยนตร์ ถ้าเราอยากเล่นหนังสักเรื่องหนึ่งที่พูดถึงระบบความยุติธรรมในประเทศนี้ ถามว่าเราทำได้ไหม มันยากมากเลย หรืออย่างประเด็นการเมือง หนังเรื่องไหนที่จะทำออกมาก็เห็นโดนแบน โดนสกัดตลอดเวลา เราว่าเสรีภาพการแสดงออกในประเทศนี้ มันยังไม่กว้างพอ เราไม่สามารถเล่าได้ทุกเรื่องเหมือนต่างประเทศ
TONHON : ผมว่ามันต้องค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป หมายถึงว่าตอนนี้ก็เริ่มเปลี่ยนแล้ว
UD_AWAT : ตอนนี้มันเป็นมุมสังคมจริง ๆ มันแฝงตัวอยู่ในทุก ๆ วัฒนธรรม มันต้องค่อย ๆ พัฒนากันไป
แต่เราก็มีแนวโน้มที่ดี
TONHON : อยากบอกเพื่อน ๆ เด็กรุ่นใหม่แหละ ว่าต้องใช้เวลา ต้องสู้ไปด้วยกันอีกเยอะ อีกยาว
UD_AWAT : ผมว่าเราเพิ่งมาตระหนักเสรีภาพของตัวเองในช่วงที่ผ่านมาในทุก ๆ วงการ มันกำลังเริ่มต้นครับ มันแค่ต้องใช้เวลาในการค่อย ๆ เติบโต คนรุ่นใหม่มีบทบาททางสังคมมากขึ้น นั่นแหละ มันจะค่อย ๆ เปลี่ยน ตอนนี้ก็มาไกลในเวลาอันรวดเร็วนะ แต่ก็อย่าไปเร่งรีบมัน ว่าจะต้องสำเร็จในวันพรุ่งนี้
ติดตาม วง MINTS ได้ที่
FB : Mints , What the duck
IG : @wearemints
credit :
Photographer : Patarit Pinyopiphat
Producer : Sunicha Suparat
Text & Interview : Sithipong Tiyawarakul
Photographer’s Asst. : Duangta Aunrak
VDO : Arm Saengrunroj
VDO Editor : Wawaa Chosita