“Cause your love is toxic” เต้นไปตามจังหวะความเศร้า กับอีกบทของแปม – PAM ANSHISA

เมื่อตระหนักได้แล้วว่าความสัมพันธ์นั้นมีปัญหา ใครคนเดิมที่เคยทำให้รู้สึกมีชีวิต แต่วันนี้ไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป “เราควรยุติเรื่องราวทั้งหมด แล้วเป็นฝ่ายก้าวออกมา” ประโยคนี้คือบทสรุปของ Toxic ซิงเกิลล่าสุดจากศิลปินสาวมากความสามารถ PAM (แปม – อัญญ์ชิสา)

แต่หากได้ฟัง (รวมถึงดูมิวสิควีดีโอ) อย่างลึกซึ้ง ท็อกซิกที่แปมหมายถึงในเพลงป็อปแดนซ์บทนี้ ไม่ได้จำกัดแค่ความสัมพันธ์เท่านั้น เช่นเดียวกับชีวิตของใครหลายคน เมื่อเราประสบความท็อกซิก การด่วนเดินออกมาก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดเสมอไป

จากสมาชิกศิลปินเกิร์ลกรุ๊ป มาวันนี้แปมคือศิลปินเดี่ยวเต็มตัว สไตล์ต่าง ๆ ภาพลักษณ์ การแต่งตัว จังหวะดนตรี ย่อมเปลี่ยนตามความนิยมชมชอบ แต่สิ่งที่เหมือนเดิมคือเธอยังคงรักในสิ่งที่ทำ มีสติกับทุกสิ่งที่เข้ามา เติบโต และเรียนรู้ ซึ่งบทเรียนหนึ่งคือความท็อกซิกที่เธอกำลังจะเล่านั่นเอง

จุดเริ่มต้นของแปม
PAM : ต้องเล่าย้อนไปไกลมาก เริ่มตอนไปประกวดรายการหนึ่งที่ประเทศเกาหลี ชื่อ Global Super Idol เป็นรายการหาตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย ญี่ปุ่น จีน ไปแข่งร้องเพลงที่เกาหลี ซึ่งตอนนั้นเราได้เป็นตัวแทน 1 ใน 6 ของประเทศไทยที่ได้ไปแข่ง และได้รางวัลกลับมา พอเรากลับไทยมาสักสองเดือนก็มีพี่ที่ เวิร์คพอยท์ (Workpoint) ติดต่อมา ให้ไปออดิชันโปรเจ็กต์หนึ่งที่เป็นเกิร์ลกรุ๊ป คือ ไกอา (GAIA) นั่นเอง ถือว่าเป็นใบเบิกทางให้เราได้มาเป็นนักร้องในประเทศไทย ถ้านับจากวันที่เดบิวท์ ตอนนี้ก็ประมาณ 8-9 ปีแล้ว

สไตล์ตอนนี้ก็คือตัวตนของแปม
PAM : มีคนถามตลอดว่าแปมเป็นแบบนี้มาแต่แรกหรือเปล่า หมายถึงชอบทำเพลงแบบนี้ตั้งแต่แรกไหม นี่คือตัวตนเราหรือเปล่า คือต้องอธิบายตัวตนของเราหรือสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราเป็นมันเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ หรือการเจออะไรในชีวิต ดังนั้นแปมไม่ได้ใช้คำว่าค้นหาตัวเอง เรียกว่าเป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่ได้บังคับว่าฉันต้องหาตัวเองให้เจอ แปมมองว่าทุกช่วงชีวิต ทุกบทบาทที่แปมได้เป็น อย่างตอนที่เป็นเกิร์ลกรุ๊ป อันนั้นก็คือตัวแปม

ตอนที่แปมเคยอยากอยู่เกิร์ลกรุ๊ป ก็มีความคิดว่าฉันอยากเป็นเมน โวคอล (Main Vocal) อยากเต้นอยู่กับเพื่อน ๆ อีกสามสี่คน อยากเพอร์ฟอร์มดี เราชอบโมเมนท์ไหน เราก็อิน ณ ตอนนั้น พอถึงจุดที่เราได้ไปลองทำเต็มที่ มันจะมีอะไรใหม่ ๆ เข้ามา แล้วทำให้เราอยากลองมากขึ้น ก็เป็นไปตามอายุแหละ พอเราจบจากตรงนั้นมาก็รู้สึกว่าโอเค อยากเป็นศิลปินเดี่ยวบ้าง เพราะตอนที่ทำเกิร์ลกรุ๊ปอาจไม่ได้ทำเพลงที่เราชอบสักทีเดียว มันเป็นการได้เพลงมาและเอามาซ้อม แล้วก็เน้นเพอร์ฟอร์ม แต่พอเราโตขึ้น เราอยากแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น อยากเล่าสิ่งที่เรารู้สึก เช่น ความเจ็บปวดหรือความเศร้า

ตอนที่อยู่ไกอาได้รับบทเป็นสาวหวาน เหมือนเป็นคนที่หวานที่สุดในวง แต่พอมาเป็นศิลปินเดี่ยว เราไม่ได้เป็นแบบนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แปมมองว่าการได้ทำเพลงตอนนี้คือการเล่าเรื่องของเราให้มากที่สุด ซึ่งเป็นอะไรที่สนุกมาก พอเราได้ลองทำเต็มที่ มันสุดทางของเรา เราก็อยากต่อยอดขึ้นไปอีก ลองไปเป็นศิลปินเดี่ยวดูแล้วทำให้มันดีที่สุด เอ็นจอยกับโมเมนท์นี้ให้มากที่สุด
ถือว่าเป็นการเจอตัวเองโดยธรรมชาติ แปมไม่เคยอินกับคำที่เขาบอกว่าต้องหาตัวเองให้เจอ แปมรู้สึกว่า ทำไมต้องบังคับคนอื่น หรือบังคับตัวเอง ในเมื่อมันเป็นไปอย่างธรรมชาติ ถ้ามัวแต่ไปหาว่าฉันคืออะไร ฉันเป็นคนอย่างไร (หัวเราะ) มันเครียดนะ ทุกอย่างมันต้องมาเอง 

กับ D.U.M.B. Recordings แปมได้ทำอะไรมากขึ้น
PAM : จริง ๆ แล้วแปมไม่ได้ปรับตัวขนาดนั้น ก่อนหน้านี้เราต้องลงมือทำอะไรเองอยู่แล้ว ถ้าพูดถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนมาก ๆ คือตอนหลังจากทำวง แล้วมาเป็นศิลปินเดี่ยวมากกว่า มันคือการที่ยังไม่เข้าใจว่าเราต้องเป็นคนตัดสินใจเหรอ ซึ่งเราแค่ไม่เคย ไม่ชินว่าขั้นตอนนี้เป็นแบบนี้นะ แต่พอได้ทำเดี่ยว มาอยู่กับ D.U.M.B. แล้วด้วย ผู้บริหารคือ พี่แต๊บ-ธนพล เขาค่อนข้างปล่อยให้ศิลปินเป็นตัวเองแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์เลยก็ว่าได้ มันเป็นความสนุกมากกว่า แปมมองว่าได้ฝึกที่จะตัดสินใจอะไรมากขึ้น เราต้องทำให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราจะพูดในเพลง ภาพทีเราทำต่อไป เราชอบมันแล้วจริง ๆ แล้วมั่นใจแล้วจริง ๆ ว่าสิ่งนี้มันคือสิ่งที่จะแสดงออกให้คนอื่นได้รู้จักเรา

ซึ่งเดิมทีไม่ได้ลงรายละเอียดขนาดนี้
PAM : ใช่ ๆ ถ้าก่อนหน้านี้อาจจะให้โปรดิวเซอร์ได้ทำงานเลยทั้งหมด แต่ที่ D.U.M.B. เขาต้องการให้เรามีส่วนร่วมในเพลง ต้องมีความเป็นตัวเรามากที่สุด ก็เลยอยู่ในทุก ๆ ขั้นตอนเลย ตั้งแต่ขึ้นดนตรี จนถึงร่างเนื้อเพลงว่าท่อนนี้เราจะพูดเรื่องนี้นะ มันต้องรุนแรงแค่ไหน หรือเรื่องอะไรที่พูดไม่ได้บ้าง เพราะความเป็นจริง ศิลปินต้องซื่อสัตย์กับเพลงตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน มันต้องไม่ทำร้ายคนอื่น มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

อย่าง Toxic เพลงล่าสุด เป็นเพลงที่พูดถึงความสัมพันธ์ท็อกซิกนั่นแหละ ซึ่งตอนก่อนที่แปมเขียนเพลงนี้ แปมก็กังวลเหมือนกัน เพราะพูดถึงเรื่องที่ค่อนข้างส่วนตัวมาก ๆ แล้วเราไม่เคยเปิดเผยเรื่องส่วนตัวขนาดนี้มาก่อน กับทั้งโปรดิวเซอร์ คนร่วมเขียนเนื้อ หรือคนฟังก็ตาม ดังนั้นพอมันเป็นเรื่องที่เรียลมาก ๆ เราต้องระวังสิ่งที่พูด มันเป็นแค่มุมของเราหรือเปล่า มันเป็นแค่ความอคติหรืออารมณ์ของเราหรือเปล่า เพราะการที่จะเขียนเพลงนี้ออกมาไป ต้องแน่ใจว่าเราไม่ไปทำร้ายใคร

สุดท้ายแล้ว มันเป็นเพลงที่รุนแรงแหละ พูดถึงเนื้อเรื่องที่เธอโคตรท็อกซิกกับฉันเลยนะ แต่ในขณะเดียวกันมันมีบางพาร์ทที่แปมตัดสินใจว่าแปมจะไม่พูดเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องที่เราไม่ชี้นำดีกว่า อันนี้ยกตัวอย่างนะคะ เช่น ท่อนฮุคที่เนื้อร้องมันคือ Cause your love is toxic เราพูดแต่แรกเลยว่าขอใช้คำว่า Your love เราจะไม่ใช้คำว่า You are Toxic ขอให้มันเป็นความรักของเธอดีกว่า เพราะสุดท้ายเขาอาจไม่ได้เป็นคนท็อกซิก แต่มันคือวิธีการแสดงออกถึงความรักหรือความหวังดีของเขาที่มันไม่เวิร์กกับเรา มันเหมือนความรักที่ไปกันไม่ได้ เป็นเรื่องดีเทลที่เราไม่อยากผลักความเลวร้ายทั้งหมด (หัวเราะ)

ยากไหมที่จะเล่าเรื่องท็อกซิกผ่านเพลง
PAM :
โมเมนต์ที่ตั้งใจเขียนเพลงนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ของเราตอนมาอยู่ D.U.M.B. เลย ตอนนั้นเราเพิ่งหลุดออกมาจากสถานการณ์แบบนั้นน่ะแหละ แล้วเรารู้สึกว่า โอ้โห โคตรดีเลย โคตรฟินเลยอ่ะ กับการที่เราตัดสินใจเดินออกมา แล้วเราก็โอเคที่จะเขียน ซึ่งความท้าทายของมันคือจะพูดให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไรว่า ความสัมพันธ์ท็อกซิก (Toxic Relationship) มันทำให้เราแย่จริง ๆ นะ แต่ในขณะเดียวกัน เราห้ามโทษเขาฝ่ายเดียวค่ะ

แล้วความท้าทายอีกอย่าง คือตอนที่เราจะปล่อยเพลงนี้ออกมานั่นแหละ ว่าคนมองว่าเราใจร้ายปะวะ (หัวเราะ)

แล้วมีใครว่าเราใจร้ายไหม
PAM : มีหลายคนที่บอกว่า ชีวีตเราเลยว่ะ คุยกับเพื่อนสนิทว่าเราก็รู้ เนื้อเรื่องแบบนี้นะ ถ้าปล่อยเพลงไป ตรงแน่ ซึ่งนางก็ มึง…ชีวิตกูเลย มันเป็นอย่างนั้นน่ะ คือมันเป็นจุดประสงค์หนึ่ง เราจะแฮปปี้มาก ๆ ถ้าได้ฟีดแบ็คแบบนี้ แต่ไม่ได้มีใครมองว่าใจร้ายแหละ ยังไม่มีใครบอกว่า โห…ทำไมใจร้ายจังเลย ถือว่าเป็นไปตามคาดค่ะ (หัวเราะ)

กับมิวสิควีดีโอ แปมก็มีส่วนร่วม
PAM : การดีไซน์ท่าเต้นมีทีมมาคิดให้ค่ะ ชื่อคุณตะวันกับคุณอั้ม เขามาช่วยรับบรีฟไป ภาพแรกที่แปมเห็น อยากให้เป็นโมเมนต์ของคน ๆ หนึ่งที่อยู่บ้าน แล้วเปิดเพลงเต้นไปเรื่อย ๆ ไม่มีแบบแผน ไม่ได้เต้นจริงจังหรือมีท่าจำ อยากให้เป็นความรู้สึกมากกว่า ผู้หญิงหลาย ๆ คนน่าจะเข้าใจ ถ้าเป็นคนชอบเต้น แล้วเปิดเพลงดัง ๆ ในบ้าน หรือเต้นในห้องน้ำ อันนั้นคือความต้องการที่เราอยากได้ อยากให้เป็นการปลอดปล่อยบางอย่างออกไป สลัดความเศร้า ความโกรธ ความเซ็งชีวิต ซึ่งพอได้มาทำงานร่วมกัน ทุกคนก็เห็นภาพเดียวกันว่าโอเค เราจะเล่าออกมาเป็นแบบนี้นะ ก็ออกมาเป็นอย่างที่เห็นค่ะ

มีพาร์ทนึงที่แปมว่ามันเล่าเรื่องได้ดีที่สุดเลยคือ พาร์ทที่สอง ฮุคที่สอง บนโต๊ะกินข้าว เต้นโว้ก (Vogue Dance) สื่อถึงความเจ็บออกมา ว่าฉันเจ็บมากเลย เก็บกดมากเลย ซึ่งเป็นเมจิกโมเมนต์สำหรับแปม เราไม่คิดว่าตัวเองจะเต้นโว้กได้ แล้วก็ไม่คิดว่าโว้กมันแสดงความรู้สึกเครียดได้ขนาดนี้

ท็อกซิก เป็นได้แค่เรื่องความสัมพันธ์อย่างเดียวหรือเปล่า
PAM : มันคือเรื่องอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แล้วทำให้เราแย่ลง หรืออะไรก็ตามที่เรารู้ว่ามันไม่ดี แต่เราก็ยังยอมให้มันเกิดขึ้น ถ้าถามว่าเป็นแค่เรื่องความสัมพันธ์ไหม ก็คงจะไม่ใช่สักทีเดียว มันเป็นคำที่เราไม่สามารถนิยามได้ขนาดนั้นว่าคือเรื่องอะไรบ้าง ดีเทลมันยิบย่อยมาก ๆ อาจเป็นคำพูดที่เราเจอบ่อย ๆ เข้า แล้วยังทำอยู่ทั้งที่รู้ว่าเราไม่ชอบ หรือเขาอาจรู้ก็ได้ การบูลลี่กัน การตัดสินกันโดยที่ยังไม่รู้จักกันดี มันก็เป็นท็อกซิก (Toxicbility) เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ

สังคมเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิต มีการพูดถึงความท็อกซิกมากขึ้น ไม่ว่าในที่ทำงาน ในครอบครัว โรงเรียน หรืออะไรต่าง ๆ มีเยอะขึ้นมาก กลายเป็นคำยอดฮิตเหมือนกัน

ในฐานะที่ผ่านสถานการณ์ท็อกซิกมาแล้ว แปมมีคำแนะนำไหม
PAM :
วิธีการก้าวผ่านมันขึ้นอยู่กับบุคคลเหมือนกันนะคะ แต่ส่วนตัวแปมเอง เราต้องรู้จักตัวเองให้ดีก่อนค่ะ เรารู้สึกละเอียดอ่อนกับเรื่องอะไร ไม่ชอบอะไร หรืออะไรที่ทำให้เรารู้สึกแย่ เราต้องถามตัวเองก่อนว่า ณ โมเมนต์ที่เรารู้สึกแย่หรือทุกอย่างมันท็อกซิก มันเป็นเพราะตัวเราหรือเป็นเพราะเขา

ขั้นตอนที่สองคือเราต้องจัดการกับตัวเองก่อน ต้องเผชิญหน้ามัน เพื่อที่จะได้ปรับความเข้าใจกับเขา สมมติเรามีเพื่อนที่ทำสิ่งที่เราไม่ชอบ ควรให้โอกาสเขาได้รู้ว่าเรื่องนี้เราไม่โอเคนะ ถ้าเขาปรับไม่ได้ ค่อยเป็นสเต็ปต่อมาว่า โอเค เราต้องเดินออกมา แต่ถ้าเกิดเราให้โอกาสปรับตัวกันแล้ว แล้วเขาบอกว่า ฉันไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนเลย เราปรับเรื่องนี้กันเนอะ เราอาจมีเพื่อนที่ดีที่สุดเพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่งก็ได้

เทคนิคของแปมคือเราต้องเผชิญหน้ากับมันค่ะ ดีลกับมันก่อน ปรับให้ได้ก่อน ให้โอกาสเขา ให้โอกาสเรา แล้วค่อยว่ากัน การใช้เหตุผลสำคัญค่ะ ท็อกซิกที่เราเจอมักให้ความรู้สึกนำก่อน แล้วไอ้ความรู้สึกนี้แหละ มันคือเหตุผลว่าเพราะอะไร ทำไมเราถึงรู้สึกแบบนี้ เพราะอะไรเราถึงต้องแก้

ไม่จำเป็นต้องหนีออกมาอย่างเดียว
PAM : คือแปมเคยเจอเหตุการณ์นี้มา มันมีครั้งหนึ่งที่เราคิดว่าเขาไม่ดีขึ้นเลยเนอะ เรารู้สึกแย่ ดิ่งมาก จนต้องไปโรงพยาบาลเพื่อคุยกับนักบำบัด เพื่อทบทวนว่าฉันรู้สึกอย่างนี้ แล้วสุดท้ายเราได้รู้ว่า มันเป็นเพราะเราบังคับตัวเองให้เข้าใจเขา แต่เขาไม่เคยเข้าใจเราสักที วิธีการของแปมง่ายมาก ถ้าฉันให้เซลฟ์เลิฟ (Self-love) กับตัวเอง มันคือการที่เราต้องออกห่างจากเขาดีกว่า เราอาจไม่เฮลตี้แล้วหากเราต้องเจอกันบ่อย ๆ แล้วมันก็ดีขึ้นจริง ๆ ค่ะ

แต่พอมีเหตุการณ์นี้แล้ว แปมไปเจอคนอื่น ๆ หรือใครก็ตามที่มีท่าทางว่าต้องทำให้เรารู้สึกอะไรสักอย่าง มันกำลังท็อกซิกแล้ว เราจะปิดประตูเลย เรารีบปิดประตูเกินไปค่ะ พอหลังจากที่เราปิดหลาย ๆ บาน แล้วเรามารู้ตัวอีกที ว่าเราตัดคนออกจากชีวิตง่ายเกินไป มันไม่ให้โอกาสใคร เหมือนพอเราไปเจอเรื่องแย่ ๆ กับคนนั้นมาก่อน แล้วเรามาใช้กับคนอื่น ๆ ทั้งที่เราไม่ได้บอกเขา ไม่ได้ให้โอกาสคนอื่นก็เหมือนเราไม่ให้โอกาสตัวเอง

หลังจากที่ได้รู้ว่า โอเค เราตัดคนออกง่ายเกินไปนะ เรามาปรับที่ตัวเอง เราต้องจัดการกับความรู้สึกตัวเองด้วย เราต้องเข้าใจเขาเรื่องนี้ ว่าเพราะอะไรทำไมเขาถึงทำแบบนี้ เพราะอะไรเราถึงรู้สึกแบบนี้ คือต้องตั้งสติให้ได้ก่อน มีอะไรก็บอกเขาตรง ๆ แบบนี้เราไม่ชอบนะ เราเคลียร์กันก่อน จริง ๆ แล้วคือการให้โอกาสเราทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์ แม้แต่เราเองก็เช็คตัวเองอยู่ตลอดว่าเราไปบังเอิญเป็นท็อกซิกของใครหรือเปล่า

กลับมาคุยเรื่องดนตรีกัน… จุดแข็งของศิลปินไทย
PAM : แปมมองว่า ศิลปินไทยจริง ๆ เก่งมาก เก่งมาก ๆ เลย เคยคิดเหมือนกันว่า ทำไมถึงมีคนเก่งเยอะขนาดนี้ อาจเพราะว่าวงดนตรีหลาย ๆ วงเขาทำงานเอง แล้วเขามีความเป็นนักดนตรีสูง คือถ้าสังเกต คนไทยที่เป็นศิลปินป็อป จะเป็นคนที่เล่นดนตรีก็ได้ แต่งเพลงก็ได้ ร้องเพลงก็ดี มีทุกอย่างที่ครบมาก ส่วนหนึ่งอาจมาจากความอินโทรเวิร์ต (Introvert) แปมว่าคนไทยหลายคน ไม่ใช่ทุกคนนะ เขามีความอินโทรเวิร์ต อยู่คนเดียวแล้วสร้างสรรค์ผลงานได้ดีเยี่ยม อันนี้แหละมั้งที่ทำให้ศิลปินไทยเกิดขึ้นใหม่ ๆ ทั้งนั้นเลย แล้วทุกคนก็พยายามเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาค่ะ

มันคือความสุนทรียะ เรื่องความสุนทรียะก็สำคัญมากเหมือนกัน นักดนตรี นักร้อง หรือนักแต่งเพลง ต้องมีจินตนาการ แล้วอีกอย่างหนึ่งคือคนไทยอาจเจอเรื่องเจ็บปวดบ่อย เรื่องที่มันต้องเก็บไว้ในใจ อกหักก็บ่อย สภาพสังคมก็… มีความเก็บกดจนเราสามารถเอามาใส่ในเสียงเพลงได้ เป็นเมโลดี้ เป็นคำพูด มันคือโครงสร้างหลาย ๆ อย่างที่เราแสดงออก สังเกตไหมว่าเพลงไทยมีแต่เพลงเศร้า (หัวเราะ) ศิลปินไทยพูดเรื่องเศร้าเก่ง

ถ้าอยากเห็นศิลปินไทยในระดับสากลมากขึ้น
PAM : ต้องถามตัวเองเหมือนกันว่าต้องเพิ่มอะไร (หัวเราะ) เอาจริง ๆ ตอนนี้ทุกคนน่าจะยังไม่ต้องเพิ่มอะไร แปมว่าทุกคนทำดีที่สุดแล้ว เป็นตัวของตัวเองด้วย อาจเป็นเรื่องการซัพพอร์ตที่ต้องมีมากกว่านี้ให้กับวงการดนตรี ให้กับศิลปิน เพราะอย่างที่แปมบอก ศิลปินไทยเก่ง ๆ เยอะมาก ต่างชาติฟังเพลงไทยเยอะนะ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เขาฟังเพลงไทย แล้วเขาก็ชอบศิลปินไทยด้วย เพียงแต่ว่ายังเพิ่มแรงซัพพอร์ตได้อีก เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ ทำต่อไป

ต่างประเทศเขาให้ความสำคัญ
PAM : ใช่ค่ะ เขาให้ความสำคัญ ซึ่งนั่นก็วนมาเรื่องการซัพพอร์ท เรื่องโครงสร้างของเราที่ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องนี้ขนาดนั้น คนไทยส่งเสริมคนไทยด้วยกัน แต่ถ้าเราอยากไปอีกระดับ อยากไปอินเตอร์ มันเป็นอะไรได้อีก นอกจากเรื่องนี้ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ศิลปินหลายคนที่เขาไประดับอินเตอร์แล้ว อย่าง ภูมิ (Phum Viphurit) หรือ น้ำชา (Numcha) ซึ่งน่าดีใจมากเลย ต่างชาติเขาแลเห็นตรงนี้ว่าคนไทยโคตรเก่ง เราก็มีดี

อีกเรื่องหนึ่ง… อันนี้เป็นความคิดส่วนตัวของแปมที่อยากให้เกิดขึ้นในไทยนะ คือเราอยากให้ศิลปินครอสโอเวอร์กันได้มากกว่านี้ค่ะ ไม่ว่าจะทำงานเบื้องหลัง การแต่งเพลง การทำเพลง คือถ้าดูรูปแบบของเมืองนอก ส่วนใหญ่เขาจะทำค่ายเพลงจำลอง (Song Camp) แต่งกันหลาย ๆ คนเพื่อสร้างความหลากหลายในเพลงให้ได้มากที่สุด แล้วมันได้อะไรมากขึ้น แต่ว่าในไทยอาจไม่ค่อยได้มาทำงานด้วยกันเท่าไหร่ แบบนั่งหลาย ๆ คน ทำเพลง แต่งเพลงไปด้วยกัน ซึ่งแปมเป็นคนที่ชอบทำแบบนั้น อย่างล่าสุดไปแต่งกับน้องคนหนึ่งมา แล้วรู้สึกสนุกมากเลย งานมันก็เดินไวขึ้น ได้มุมมองที่ไม่ใช่แค่มาจากเราคนเดียว งานมันก็สร้างสรรค์มากขึ้น เลยคิดว่าถ้าเกิดเรามีแพลตฟอร์มนี้ ที่ทำให้นักแต่งเพลงหรือศิลปินได้มาทำงานด้วยกัน มันซัพพอร์ท แล้วงานมันจะดีขึ้น หลากหลายขึ้นมาก ๆ เลย เหมือนที่เมืองนอกเขาทำ อยากให้เป็นอย่างนั้น

เคยศึกษาอยู่เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับการรองรับต่าง ๆ เช่น เรื่องลิขสิทธิ์ มันเหนือไปอีก ซึ่งถ้าเกิดว่าเราแก้ตรงนั้นได้ พวกผลประโยชน์ต่าง ๆ ของนักร้อง ศิลปิน การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ๆ มันจะซัพพอร์ทให้เราอยากทำงานด้วยกัน มีอิสระมากกว่านี้

เป้าหมายต่อไปของแปม
PAM : ตอนนี้อยากทำอัลบั้มอีพี (Extended Play) ให้สำเร็จค่ะ กำลังทำอยู่ อยากให้ออกภายในปีนี้ อันนี้คือเป้าหมายแรก (หัวเราะ) แล้วก็เป้าหมายถัดไปเหรอ… พูดตรง ๆ เลยละกัน อยากให้คนเปิดใจฟังเพลงของเรา มันอาจเป็นแนวใหม่ แต่มันไม่ได้ใหม่มากขนาดนั้นนะ แค่มีความเป็นป็อปแดนซ์ที่อาจไม่คุ้นหูในเพลงภาษาไทย อยากให้คนเปิดใจมากขึ้น แล้วก็สนุกไปกับเราค่ะ เราอยากทำเพลงที่เป็นเพลงเศร้า แต่ไม่จำเป็นต้องร้องไห้ใต้ฝักบัวเสมอไป (หัวเราะ) เป็นเพลงเศร้าที่คุณจะเต้นและร้องไห้ไปด้วยก็ได้

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเป็นศิลปิน
PAM : ทำเลยค่ะ อยากทำอะไร ทำเลย ณ ตอนนี้ ยิ่งเด็กยิ่งดี ได้ฝึก ได้พัฒนา เราอย่าไปกลัวว่าจะมีอะไรมาขัดขวาง คนเก่งกว่าเรามันมีอยู่แล้วค่ะ มีแน่นอน แต่เราชอบอะไรเราแค่ต้องทำ เราอยากทำอะไร เราต้องทำตามหัวใจ เป็นตัวเอง ณ โมเมนต์นั้นให้ได้มากที่สุด

แต่ละคนก็ต้องหาวิธีของตัวเองเหมือนกัน เราลองเลียนแบบไอดอลเราก่อนก็ได้ การเลียนแบบ การก็อบปี้ หากทำเพื่อเรียนรู้ มันไม่ผิด อันนี้คือหมายถึงวิธีการในการร้องเพลง ขนาดตอนเด็กเรายังเลียนวิธีการพูดของพ่อแม่เลย การร้องเพลงหรือการทำงานศิลปะก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรจะมาหยุดเราได้ นอกจากตัวเราเอง

ติดตาม PAM ได้ที่
IG : Pamperpaam
FACEBOOK : Pam Anshisa

Special Thanks :

Loaction : Bhouse49.bkk


credit : 
Photographer : Patarit Pinyopiphat
Producer : Sunicha Suparat
Text & Interview : Sithipong Tiyawarakul
Photographer’s Asst. : Duangta Aunrak
VDO : Atikom Tinpracha
VDO Editor : 
Wawaa Chosita