PYRA: ศิลปินสาวที่ใช้ดนตรีบอกใบ้เราว่า “โลก (ของ) มนุษย์ก็มีวันหมดอายุ”

มันยากที่จะนิยามไพร่า ใช่… เธอเป็นนักดนตรี แต่ผลงานที่ถ่ายทอดออกมามักเป็นมากกว่าการฟัง ทุกการแสดงสดของเธอแตกต่างจากคอนเสิร์ตที่เราคุ้นเคย ท่วงท่าที่เธอแสดงสะกดสายตาผู้ชมมาแล้วทั่วโลก แม้กระทั่งในโลกออนไลน์อย่าง onlypyra เราจะเห็นไพร่าร้องเพลงแบบไลฟ์ผ่านเทคโนโลยี AR ท่ามกลางฉากที่เติมเต็มถ้อยคำในเนื้อเพลง

วันนี้ PYRA ต้อนรับเราสู่โลกของเธอ ประตูแรกที่เปิดคือ dystopia ห้องที่ประดับด้วยความบอบช้ำของมนุษยชาติ เชยชมอนาคตแสนสิ้นหวังในห้องนี้อยู่ครู่ใหญ่ 

ถัดมาประตูอีกบาน plastic World ห้องที่เธออยากให้ทุกคนได้ลองสัมผัส มองไปมุมไหนก็น่าสนใจไปหมด แต่ปัญหาก็แค่ว่าทุกอย่างที่อยู่ตรงนี้เป็นของจำลองทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดจริงเลย เราทุกคนในห้องยิ้มกว้างให้กัน แม้ในใจนั้นแสนหดหู่

นั่นล่ะ… โลกที่ไพร่าเล่าให้เราฟังผ่าน 2 งานศิลป์ของเธอ มันน่าตื่นเต้นเมื่อเรามองจากระยะไกล แต่เรื่องเศร้ากลับกลายเป็นว่ามันคือโลกใบเดียวกันนี้เอง โลกที่เราอาศัยอยู่กับโลกที่เธอเล่า

คิดว่าตัวเองเป็นคนมีพรสวรรค์หรือเปล่า
PYRA :
ไม่ได้ยินคำนี้มานานมาก ไม่เคยคิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์เลย แค่อาจมีความชำนาญ แต่ก็ไม่รู้จะเรียกพรสวรรค์ได้หรือเปล่า เพราะคิดว่าทั้งชีวิตเป็นคนที่ไม่โชคดี ทุกอย่างที่ได้มาเป็นเพราะเราพยายามและให้เวลากับมันมากกว่า

เวทีร้องเพลงในวัยเด็ก
PYRA :
ตอนนั้นเราไม่ได้ไปด้วยตัวเอง อย่างเช่นครูที่สอนหรือพ่อแม่ส่งไปเราไปในฐานะเด็กคนหนึ่งที่… โอเค เขาบอกให้ไป เราก็ไป ตอนนั้น 9 ขวบ เด็กๆ เลย แต่ก็จำประสบการณ์หลายๆ อย่างบนเวทีได้ ก็คงตื่นเต้นมั้ง แต่ก็ไม่ได้กลัว เป็นความตื่นเต้นที่ดี จริงๆ แล้วรู้สึกชอบมันด้วย

คนรอบตัวสนับสนุนแค่ไหน
PYRA :
เขาให้มันเป็นกิจกรรมนอกเวลา เหมือนเป็นการเรียนพิเศษมากกว่า เขาไม่ได้คิดว่าจะทำให้มันเป็นอาชีพของเราอยู่แล้ว เหมือนครอบครัวพ่อแม่เอเชีย เขาก็เชื่อในวิชาการมากกว่าศิลปะ ไม่ได้สนับสนุนให้ลูกตัวเองทำงานเกี่ยวกับศิลปะ เขาอยากให้ลูกตัวตัวเองเป็นนักธุรกิจ เป็นหมอ เป็นทนาย หรืออะไรก็ตามที่คิดว่ามั่นคงกว่า

กว่าจะเป็นอาชีพได้
PYRA :
จากที่ 9 ขวบก็นานมากค่ะ มันเพิ่งมาเป็นอาชีพได้จริงๆ โดยที่ไม่ต้องมีอาชีพที่ 2 เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วเอง ความจริงแล้ว ครอบครัวก็อยากให้เราเหมือนคนทั่วไป ทำงานออฟฟิศอะไรแบบนั้น เรามีจุดเปลี่ยนตอนอายุประมาณ 25 เราบอกเขาว่า เอ้ย…ไม่ทำแล้ว ทุกอย่างที่เขาอยากให้เราเป็น เราเป็นไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่เรา แล้วนี่คือชีวิตของเรา แล้วเราจะเป็นอย่างนี้ ช่วยหยุดสักที หยุดบอกให้ทำอย่างอื่นเพราะนี่คือสิ่งที่อยากทำ

นอกจากครอบครัว
PYRA :
มันมีเรื่องการยอมรับของสังคมที่ทุกคนชอบตั้งคำถาม เช่น ช่วยอธิบายสไตล์ของตัวเองหน่อย ทำเพลงออกมาแล้วรู้สึกอะไรไหมที่ทุกคนไม่อินกับเพลงของเรา เรารู้สึกว่าทำไมต้องตั้งคำถามพวกนี้ด้วย เพราะการที่เราเป็นตัวเอง เราแต่งตัวอย่างนี้ มันต้องตั้งคำถามเลยเหรอ จริงๆ แล้วเราแต่งเพราะอยากแต่ง ไม่ได้แต่งตัวเพราะว่า โอ้โห…ฉันต้องการจะใส่เดรสสีชมฟูเซียเพราะอยากสว่างที่สุดในโลก มันไม่ได้มีอะไรลึกขนาดนั้น มันก็แค่วันนี้เราอยากแต่งตัวแบบนี้ เราก็ใส่ออกมาแบบนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อน

เราโตมาโดยที่ไม่มีใครยอมรับเรา ทุกคนไม่เข้าใจ เราก็รู้สึกว่าไม่ได้สนใจแล้ว เพราะถ้าไปฟังคนอื่นมากๆ เขาก็จะเปลี่ยนเอกลักษณ์ของเรา แล้วก็จะกลายเป็นคนที่อยู่ในกรอบ ซึ่งแต่ก่อนไพร่าเป็นคนที่อยู่ในกรอบ อย่างเช่น ไม่กล้าสักมือ คืออยากสักมือมาก แต่คนในสังคมเขาก็ เฮ้ย… สักแล้วจะไปทำงานอะไรไม่ได้แล้ว จะหมดโอกาสทางสังคม… เราคิดว่าการเป็นศิลปิน คือการแสดงออกถึงตัวตน ถ้าเราจะไปฟังคนที่ไม่เข้าใจ มันก็ทำให้เราไม่สามารถผลิตผลงานที่แท้จริง เหมือนเราไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าสมองศิลปินของเราคิดจะทำอะไร ต้องทำเลย เพราะนี่คือสิ่งที่ถูกต้องในฐานะศิลปิน

กรอบนี้เมืองอื่นไม่มี
PYRA :
ใช่ค่ะ ไปที่ไหนเขาก็ไม่มีใครถาม เขาจะตั้งคำถามเชิงศิลปะ สังคมเราที่ไม่ได้สอนให้คนเข้าใจศิลปะ ไม่ได้ปลูกฝังถึงความสำคัญ ความจริงแล้วศิลปะคือการสร้างวัฒนธรรม คุณสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมหนึ่งได้ แค่คุณเข้าพิพิธภัณฑ์ แต่ในประเทศเราแทบจะทำลายหอศิลป์อยู่แล้ว ซึ่งไพร่าว่าตลก ศิลปะมันสำคัญต่อวัฒนธรรมมนุษย์

แล้วชาวต่างชาติสนใจอะไร
PYRA : 
อย่างที่เล่าไว้แล้ว หนึ่งในความสำเร็จในชีวิตคือการได้เล่นใน Burning Man ซึ่งน่าจะเป็นเทศกาลดนตรีระดับท็อป 4 ของโลก ที่ไพร่าไปก็เชื่อว่าไม่ได้มีใครรู้จักเราขนาดนั้น แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาจากทุกคน คือเขาค่อนข้างเปิดกว้างและยอมรับ ทุกคนอาจมีความเป็นศิลปินมากกว่าเราด้วยซ้ำ แต่ตรงนั้นมันไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีคำว่า “Others” มีแต่คำว่า “We” สไตล์ของใครก็ตามจะไม่มีคำว่าแปลก เช่น การแต่งตัว เขาก็แต่งตัวอย่างนี้อยู่แล้ว ความหลากหลายไม่ใช่เรื่องแปลกของที่ตรงนั้น

ประสบการณ์ทำให้ไพร่าเชื่อในตัวเองมากขึ้น
PYRA :
ความจริงแล้วไพร่าก็ยังกลัว จนถึงประมาณปีที่แล้วนี่เอง ตอนนี้เรากลับมามองดูก็รู้สึกว่า เรายังรู้สึกมีกรอบอยู่เยอะมาก ปีที่แล้วเราแคร์ความสวย แคร์ความสมบูรณ์แบบ แล้วคนอื่นจะคิดอย่างไรหากหันหน้ามุมนี้แล้วมันดูอ้วน แต่ว่าตอนนี้คือรู้สึกว่าเราล้างตรงนั้นออกไปได้แล้ว สามารถพอใจในรูปลักษณ์หน้าตา

ไพร่าคิดว่าสังคมสอนให้ผู้หญิงไม่พอใจเรือนร่างตัวเอง ตั้งแต่โตมาเราได้ยินประโยคที่ว่า เฮ้ย…ระวังอ้วนนะ ทำไมไม่ไว้ผมยาวล่ะ เป็นผู้หญิงทำแบบนี้ไม่ได้ อย่าเอาเท้าวางบนโต๊ะ… อะไรทำนองนั้น ไพร่ารู้สึกว่าทำไมสังคมไม่เคยให้เกียรติผู้หญิงเลย แล้วเป็นผู้หญิงเองที่เป็นคนพูดอย่างนี้ด้วยซ้ำ คือไพร่าอยากลบล้างตรงนั้น สังเกตจากอินสตาแกรมของเรา ตอนนี้มีรูปประหลาดและอุบาทว์เยอะมาก เพราะอยากเป็น 1 อินสตาแกรมที่คนดูแล้ว เขารู้สึกดีกับตัวเอง เหมือนเวลาเราดูอินสตาแกรมนางแบบ บางครั้งจะทำให้รู้สึกว่าเราไม่พร้อมว่ะ เราอ้วน หุ่นเราไม่ดี เราไม่เห็นสวยเหมือนเขาเลย เราต้องไปโบท็อกซ์หรือเปล่า มันทำให้เราเสียเซลฟ์เสมอ

ก็เลยอยากเป็นอินสตาแกรมที่คนดูแล้วบอกว่า ไอ้นี่มันไม่ห่วงสวยเลยว่ะ ถ้าไพร่าเขาไม่ห่วงสวย เราอาจจะเป็นตัวเองได้ เราอาจจะไม่ต้องแคร์แล้วก็ได้ เราจะใส่อะไร สไตล์อะไรก็ได้ ไพร่าเชื่อว่ามันความสวยที่แท้จริงมันควรมาจากข้างใน เพราะถึงคุณจะสวยภายนอก ให้ตายอย่างไร แต่ถ้าคุณนิสัยไม่ดีมันก็เท่านั้น

ต้องก้าวผ่านพิมพ์นิยม
PYRA :
ใช่ค่ะ เหมือนความสวยตอนนี้มันถูกจำกัดด้วยสื่อ ถ้าสื่อบอกคุณว่าหน้าวีมันมา เกาหลีทุกคนหน้าวี คุณจะเห็นร้านเสริมสวย ร้านขายความหน้าวี โบท็อกซ์หน้าเรียวอะไรก็ว่าไป แต่ความสวยมันเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเสมอ คือถ้าย้อนกลับไปยุคเรเนซองส์จะเห็นว่าภาพวาดในยุคนั้น ผู้หญิงคือบิ๊กไซส์หมด เพราะว่าสมัยนั้นเขาเชื่อว่าผู้หญิงที่อวบหน่อย นั่นคือความสวย เพราะว่าเขามีอันจะกิน นิยามความสวยมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็เลยคิดว่าเราไม่ควรถูกจำกัดด้วยยุคสมัย อะไรมันก็สวยได้อยู่ที่เรามอง

การทำงานกับต่างชาติ เขาสนใจอะไรในตัวเรา
PYRA :
เขาแค่ชอบในผลงานค่ะ แล้วเขาก็อยากทำงานกับคุณ เขาไม่แคร์ว่าคุณจะมียอดฟอลโลเวอร์เท่าไหร่หรือยอดคนฟังกี่คน มันค่อนข้างเรียลมากๆ ซึ่งเราประทับใจ เพราะเราอยู่โซนเอเชีย คุ้นกับการที่ทุกอย่างถูกวัดด้วยตัวเลขหมดเลย คุณไม่ดูเลยว่าศิลปะตรงนั้นมันสื่ออะไร

เด็กรุ่นใหม่อาจไม่ได้โตมากับตำราเดิมๆ
PYRA :
ค่อนข้างมั่นใจว่าเด็กรุ่นต่อไป ที่เกิดปี 1997 ไปจนถึง 2000 ค่อนข้างฉลาดกว่ารุ่นเรา รุ่นไพร่าเอง หรือว่ารุ่นพ่อแม่ เพราะว่าเขาโตมาพร้อมทางเลือก เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว แม้มันอาจเป็นข้อมูลที่บิดเบือน แต่อย่างน้อยก็มีทางเลือกว่าเขาอยากไปศึกษาต่อด้านไหน การที่เด็กรุ่นหลังๆ ฉลาดกว่าเรา มันทำให้รู้สึกมีความหวังนะ

ประเทศที่ศิลปะดีมักอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือเปล่า
PYRA :
ก็เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนะคะ เพราะประเทศไทย ศิลปินเยอะมากๆ โดยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ไม่มีทุนสำหรับศิลปะขาดการผลักดัน ถ้าเทียบกับไต้หวัน ญี่ปุ่น อเมริกา หรือประเทศในยุโรป มีการผลักดัน เขาจะมีทุนนี้ สมมุติคุณอยากทำอัลบัม คุณแค่เขียนแนะนำตัวไปขอเงินจากรัฐบาล คุณก็ได้ทำอัลบัมแล้ว แต่ประเทศเราไม่มีอะไรอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องเชื่อในคุณภาพ ความทะเยอทะยาน และความดื้อดึงของคนไทย แม้ไม่มีการสนับสนุนยังขยันทำกันขนาดนี้ แล้วถ้ามันมี เราจะไปได้ไกลขนาดไหน อันนี้น่าคิดมากเลย

Plastic World
PYRA :
 เกี่ยวกับทุนนิยมค่ะ มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างใกล้ตัว ทุกคนเห็นแต่มองข้าม คือเราเห็นห้างเยอะแยะ แต่ดันไม่เห็นแกลลอรี แล้วเราก็ไม่เห็นใครสร้างสวนสาธารณะแล้ว การมัวแต่สร้างห้างมันคือทุนนิยมขั้นสูงสุด เลยอยากนำเรื่องนี้มาพูด หลายๆ อย่าง หลายๆสิ่ง อย่างเช่นเพชร ความจริงมันก็คือแค่หินที่อยู่ข้างทาง แต่มนุษย์ไปให้ค่ากับมัน จนเก็งกำไรขายได้ ไม่มีเพชรจะแต่งงานไม่ได้ มันไร้สาระ มันเป็นภาพลวงตา

เฉลยความหมายของมิวสิควีดีโอให้ฟังได้ไหม
PYRA :
บอกได้ค่ะ ความจริงต้องไปดู dystopia ก่อน plastic World คือ dystopia นำเสนอโลกในอนาคต ซึ่งมันจะมีภัยพิบัติอะไรบางอย่างเพราะมนุษย์ทำลายโลกกันมาหลายปี แล้วในเรื่องจะเห็นไพร่าเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตไม่กี่คนที่อยู่ตรงนั้น แต่สุดท้ายเราเลือกที่จะฆ่าตัวตายเพราะอากาศก็หายใจไม่ได้ ของกินก็กินไม่ได้ เลยตายดีกว่า แล้วความเปลือกของมนุษย์ ไพร่ามีกระเป๋าเดินทาง 1 ใบ ซึ่งในกระเป๋าเดินทางนั้นจะใส่กงเต๊กไว้ แล้วก็เผาตัวเองตาย เพราะกลัวไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีแลมโบขับหลังความตาย ทีนี้พอมา plastic World มันคือโลกหลังความตาย เหมือนเป็นโลกที่อยู่ตรงกลาง ยังไม่ได้ขึ้นสวรรค์หรือลงนรก แต่เรายังไม่เลิกความเปลือกของมนุษย์ ชีวิตหลังความตายแล้วยังจะแคร์ ยังจะเอาบ้าน รถ เสื้อผ้าไป ทั้งๆ ที่มันมีอันตรายในน้ำรอบตัว แต่เราก็ไม่ได้สนใจ มัวแต่เซลฟ์ฟีดีกว่า เดี๋ยวไปอวดเพื่อน ไปอวดผี

ตอนจบได้ชึ้นสวรรค์ไหม
PYRA :
โอเค… อธิบายก่อน ในน้ำที่เราเห็นคือพญานาค ซึ่งมันจะโผล่มาในเอ็มวีต่อไป แล้วก็พญานาคเนี่ยจะมาสู้กับพญาครุฑ แล้วจะเห็นบันไดในตอนจบของเอ็มวี ซึ่งไพร่าจะโกรธ เพราะรู้แล้วว่าจะถูกเลือกให้กลับไปเกิดใหม่ ไม่อยากไปเลยเพราะโลกมนุษย์มันเหี้ยเหลือเกิน ก็โกรธมากที่เราถูกเลือกให้กลับไปเกิดใหม่อีกแล้ว 

เราไม่ชอบอะไรในมนุษย์รึเปล่า
PYRA :
ก็ไม่ชอบด้วย รู้สึกว่าเราเป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัว เราทำลายโลก แล้วเราก็ไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี เราแสวงหาความสุข ได้อยู่กับความสุขที่เราไม่เคยอิ่ม เราทำลายทุกอย่าง เพื่อให้อารยธรรมของเราเป็นผู้อยู่รอด แต่เราตัดต้นไม้ทำลายป่า ฆ่าสัตว์ เอาสัตว์มากิน แล้วก็ขุดเจาะน้ำมัน เทขยะลงทะเล มันเป็นวงจรอุบาทว์มากเลย

คนดีๆ ก็มีอยู่แล้ว แต่ถึงคนมันจะดีอย่างไร ระบบที่เราสร้างมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะขยับไปทางไหน โลกก็ถูกทำร้าย อย่างเช่น ไพร่าเพิ่งมารู้ว่าการมาใช้หลอดกระดาษ ความจริงแล้วคาร์บอนมันเยอะกว่าการใช้หลอดพลาสติกอีก ผลเสียมันเยอะกว่าอีก เราก็ได้แต่ ห้ะ…อุตส่าห์เปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษตั้งหลายเดือนแล้ว แต่มันกลับทำลายโลกมากกว่า ทำอะไรโลกก็พังอยู่ดี

ถึงอย่างไร มนุษย์ที่พยายามกอบกู้โลกตอนนี้ เราว่าก็ควรทำ ไม่อย่างนั้นก็คงหายนะกว่า

ความเป็นไทยในเอ็มวี ไพร่าเป็นคนปรุงรึเปล่า
PYRA :
ความจริงแล้ว ทุกอย่างที่เห็นคือความต้องการของตัวเอง เราขอโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันตั้งแต่ก่อนทำเพลง ว่าจะใส่ความเป็นไทยเข้าไป จะเอาความไทย ให้มีเสียงจากเครื่องดนตรีไทยอยู่ในเพลง รวมถึงบอกกับทีมงาน ผู้กำกับหรือช่างแต่งหน้าว่าอยากได้เอกลักษณ์ความเป็นไทยมาใส่ในเนื้อเรื่องด้วย เน้นเรื่องความเชื่อ พวงมาลัย ศาลเจ้า พญานาค พญาครุฑ

ทั้งทีมจากต่างชาติและไทยรู้สึกแฮปปี้กับงานนี้ เราขอบคุณทุกคนที่สนุกกับเรา สนุกมากเหมือนกับว่าเป็นอีกงานที่ครีเอทีฟที่สุดที่เขาเคยทำมา เหมือนเป็นแพชชัน โปรเจ็ค (Passion Project) ทุกคนรู้สึกดีมากที่ได้ทำอะไรก็ได้ โดยเริ่มจากประเด็นตรงนี้แล้วไปพัฒนาความคิดกันต่อ

คิดว่าโลก dystopia จะเกิดขึ้นจริง
PYRA :
มันเริ่มมีแนวคิดนี้มานานแล้วค่ะ ถ้าคนดูหนังจะรู้ว่ามีหนังหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น The Matrix หรือ The Blade Runner ที่มันแบบนำเสนอความ dystopia ซึ่งทุกคนจะนำเสนอให้ดูล้ำยุคเหลือเกิน มีฉากโทนแสงไฟนีออน มีอะไรต่างๆ ที่ดูเป็นอนาคตมากๆ

แต่เรารู้สึกว่าโลกเข้า dystopia มา 50 ปีแล้ว อย่างน้อยปี 2020 คือ แกรนด์ โอเพนนิ่ง ของ dystopia ตอนนี้ทุกคนก็รู้แล้วล่ะ ว่าหายนะมันมาถึงแล้วจริงๆ มันไม่ได้อยู่ในโลกอนาคตเลย ตั้งแต่เริ่มปีก็มีไฟป่า มีระเบิดที่เลบานอน มีไวรัสโคโรน่า มีประท้วงกันทุกประเทศ งงที่เรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหมดเลย บางอย่างมันเกินคาดไป

ตอนแรกเราทำเพลงไปก็คิด… โอ้ย… เดี๋ยวคนในอนาคตกลับมาฟังเพลงของเรา เขาจะได้รู้ว่าเราพูดความจริง แต่ความจริงมันกลายเป็นว่า มันคือช่วงที่ปล่อยเพลงพอดีที่เรื่องเหล่านี้ถูกพูดถึง ถึงฟังดูดีสำหรับเพลงของเรา แต่สำหรับการดำเนินชีวิตคือเลวร้าย

ล่าสุดได้ไปเล่นดนตรีที่ไหนมาบ้าง
PYRA :
3 วันที่แล้วเพิ่งแสดงโชว์ Extended Reality น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันคือการโชว์ผ่านระบบ AR(Augmented Reality)คือเป็นการผสมดนตรีเข้าไปใน AR เดิมทีเราไม่สามารถแสดงสดผ่าน AR ได้ แต่ตอนนี้ทำได้แล้ว

มันคือการสร้างทุกองค์ประกอบในฉาก โดยเนื้อเรื่องที่เราเล่าคือกรุงเทพในไป 2077

เป็นแฟนอนิเมะตัวยง
PYRA :
อนิเมะเราดูเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะที่มีเนื้อหาหนักหน่อยๆ ไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็ก เรื่องที่ชอบก็ Attack on Titanชอบ Hunter x Hunter และที่เพิ่งดูจบก็คือ My Hero Academia เออ… และก็ชอบDeath Note ชอบดูอะไรที่มันดาร์กๆ อย่างเรื่อง Arjin, Parasyte, Tokyo Blue ที่มันมีความไซ-ไฟ (Science Fiction) หรือมีความซูเปอร์พาวเวอร์

ตัวละครตัวโปรด
PYRA :
มีค่ะ มีหลายตัว ตัวที่รู้สึกเชื่องโยงกับตัวเราเองได้มากที่สุดคือคิรัวร์ โซลดิ๊ก (Killua Zoldyck) จากเรื่อง Hunter x Hunter ซึ่งเป็นคนที่โตมาจากความดาร์กมากๆ โดนทรมานมาตั้งแต่เด็ก ครอบครัวเขาคือนักฆ่า แต่คีรัวร์เลือกทางที่ไม่เหมือนครอบครัว ซึ่งเราคิดว่ามันสำคัญมาก เหมือนบางคนที่โตมาแล้วกลายเป็นโจรหรืออะไรก็ตาม มันเป็นทางเลือกวัยเด็กของเขา ซึ่งอาจไม่ได้มีโอกาสมากนัก

และมันก็เป็นเรื่องจริง ถ้าคุณโตมาในประเทศที่มีสงคราม มันก็อาจมีไม่กี่ทางเลือกหรอก แต่ตรงนี้ในเมื่อเราไม่ได้อยู่ในจุดที่แย่ขนาดนั้น แปลว่าเราเลือกที่จะเป็นคนดีเหมือนคีรัวร์ได้ มันสำคัญมากๆ เลยนะ คุณต้องหยุดโทษสภาพแวดล้อม เพราะทุกอย่างเราเลือกได้ แต่คุณแค่จะเลือกรึเปล่า…

เวลาไพร่าแสดงสด ได้รับอิทธิพลจากอนิเมะหรือเกมบ้างไหม
PYRA :
แต่ก่อนก็จะบอกว่าไม่ รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่เหมือนอะไรอย่างนั้น แต่ตอนนี้ก็คิดว่า เออ… คงมาจากอะไรพวกนั้นล่ะ เพราะมันเป็นความชอบของเรา เหมือนภาพลักษณ์ที่ออกไป ก็จะมีความมะลึกกึกกึย์ คล้ายมายากล หรือพลังเหนือธรรมชาติ อะไรพวกนี้ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปคิด อนิเมะหรือเกมที่ชอบเล่น ก็เล่นเพราะว่ามันดูมีพลังวิเศษ แม้กระทั่งเกม Ragnarok ยังเลือกอาชีพเป็นนักเวทย์ (Magicians) เลย

เป็นมากกว่าการเล่นคอนเสิร์ตที่เราคุ้นเคย
PYRA :
ดนตรีมีเพียงสัมผัสเดียวคือการได้ยิน เราอยากให้ทุกคนได้รับทุกประสาทสัมผัส ให้เหมือนโชว์โอเปร่า ได้มีประสบการณ์ที่มากกว่า ได้ฟังและได้เห็นด้วย มันจึงต้องมีอะไรที่พิเศษกว่า เพลงมันต้องซิงค์กับฉากที่แสดงอยู่ และก็มีทั้งแสง มีการเต้น ทุกคนต้องได้ประสบการณ์ร่วม

อาจเพราะเราไม่เหมือนคนอื่น งานของเราคือการสร้างโลกขึ้นมา แม้ว่าทุกคนเหมือนไม่เข้าใจเราสักที แต่ลึกๆ แล้ว เราแค่อาจจะอยากให้ทุกคนเข้าใจมั้ง และการที่จะเข้าใจได้ง่ายที่สุดคือการสร้างโลกจำลองให้คนอื่นเข้ามาอยู่

ไพร่าอยากเพิ่มอะไรในมนุษย์
PYRA :
อยากให้ทุกคนมีทัศนคติที่เปิดกว้าง รับสื่อ รับศิลปะให้มากขึ้น โดยที่ไม่รีบตัดสินอะไร ลองไปดูก่อน แล้วคิดตาม ลองหาคำอธิบาย เพราะเราเชื่อว่าศิลปะสามารถสอนอะไรหลายๆ อย่างให้มนุษย์ได้ อย่างที่เราบอกว่าดูอนิเมะแล้วประทับใจ มันสอนอะไรหลายๆ อย่าง จริงๆ แล้ว แค่ลองมองไปรอบข้าง เราอาจจะเห็นอะไรบางอย่างที่สำคัญมากๆ

ติดตาม PYRA ได้ที่
FACEBOOK : PYRA
IG : Onlypyra
www.onlypyra.com


credits :
text : Sithipong Tiyawarakul
photo : Patarit Pinyopiphat
clothes : งาน thesis “fashswu” by Chanyapak Kaewta (Mook)
Photographer asst. : Anurak Duangta
VDO : Songsit kasiroek