TaoPiPhob Bar Project ความฝันใหญ่เท่าพิภพ สถานที่สร้างฝันที่ต้องการสร้างคราฟท์เบียร์ที่บ่งบอกถึงตัวตนของเขาเอง

ส้นของฟองอากาศที่วิ่งย้อนตามสายน้ำสีอำพันในแก้วทรงสูง ลอยขึ้นไปเกาะกลุ่มเป็นฟองนุ่มหนา ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของยีสต์กระจายไปทั่วร้านซึ่งมีบรรยากาศเป็นอาคารพาณิชย์แบบหอพัก-ห้องเพื่อนอันเป็นกันเอง เรียงรายกันแก้วแล้วแก้วเล่า ผ่านสองมือที่จับคันโยกของ Beer Machine โดยชายร่างใหญ่หน้าตาใจดี…    ที่แห่งนี้คือ “Tao Piphob Bar Project” สถานที่สร้างความฝันฟองนุ่มจากการหมักบ่มเครื่องดื่มดึกดำบรรพ์อันเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก ผ่านสองมือแห่งความคิดที่ต้องการจะสร้างคราฟท์เบียร์ที่บ่งบอกถึงตัวตนของเขาเอง โดย “เท่า เท่าพิภพ ลิ้มจิตกร”

    “สมัยก่อนเราเรียกที่นี่ว่า “อนาถาบาร์” เท่าเริ่มต้นเล่าถึงสถานที่ที่เรียงรายไปด้วยเบียร์

    “ตอนที่ทำเบียร์แรก ๆ เรายังไม่มีที่จะขาย ก็เลยมาทำร้านที่ตรงนี้ เราทำเป็นเหมือนอีเว้นท์ที่ให้คนมาปาร์ตี้ที่บ้านมากกว่า ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพื่อน ๆ กัน ชวนมาดื่มเบียร์ ดูหนัง เล่นบอร์ดเกม ทุกคนกดเบียร์จากเครื่องมาดื่มเอง แล้วก็ทำเป็นคราวด์ฟันดิ้ง ใครอยากกินเท่าไหร่อยากจ่ายเท่าไหร่ก็ได้”

    ไม่แตกต่างจากคนอื่น ๆ ที่ความหลงรักในเบียร์ของเขาไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่แรกรู้จัก เมื่อสังคมแบบมหาวิทยาลัยนำพาเท่าไปสู่การดื่มกินที่เน้นปริมาณและการสังสรรค์ โดยที่ตัวเขาเองไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับการเสพย์รสชาติของเครื่องดื่มที่เขาได้รับรู้ภายหลังว่ามีมิติที่ลึกซึ้งและแตกต่างออกไป

    “จริง ๆ ตอนที่ดื่มแรก ๆ ก็ดื่มเหมือนกับคนทั่วไปดื่มนะ กินเอาเมา ตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่ามันมีการกินแบบ “คุณภาพ” ด้วย พอหลังจากนั้นเราได้มีโอกาสไปนิวยอร์คกับพี่ชาย ที่โน่นมันจะมีสถานที่ที่เป็น High walk เดินไปจนสุดทางของถนนก็จะมี Food truck แล้วก็พวก Beer Truck จอดอยู่ ก็เลยมีโอกาสได้กินเบียร์ที่นั่น”

    “ความรู้สึกแรกเลยคือ เห้ย นี่มันไม่ใช่เบียร์นะ มันมีความแตกต่าง มีรสชาติที่โอเค คือถึงจะจำไม่ได้ว่ามันเป็นยี่ห้ออะไรแต่ว่ามันก็เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราได้รู้จักกับเบียร์ที่แตกต่างออกไป”

    ความแปลกใหม่ในรสชาติครั้งนั้น กลายเป็นใบเบิกประสบการณ์ของการลิ้มรสคราฟท์เบียร์อื่น ๆ ที่ตามมา และความรักในเบียร์ก็ตามติดชายหนุ่มกลับมายังประเทศไทย

    รสชาติอันไม่รู้จบและเรื่องราวที่น่าหลงใหลของเบียร์ เปิดทางสู่การศึกษาที่มากขึ้นเป็นลำดับ เท่ามีโอกาสได้พบเห็นกลุ่มคนที่ทำเบียร์ และความรู้อันมากมายบนโลกอินเตอร์เน็ต เขาเริ่มสั่งชุดทดลองเล็ก ๆ เพื่อที่จะทดลองทำเบียร์แบบ Homebrew เอาไว้สำหรับดื่มกับเพื่อนที่บ้าน และผลของเครื่องดื่มล็อตแรกที่ออกจากสองมือคู่นั้นก็คือจุดเริ่มต้นของความฝัน…

    “ตอนที่ทำตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะขายเลยนะ เหมือนลองต้มกินกับเพื่อนมากกว่าว่าจะทำได้มั้ย? แล้วรสชาติมันก็ค่อนข้างโอเค ตั้งใจจะทำอีกแต่ชีวิตก็พเนจรลงไปภาคใต้ซะก่อน มาเริ่มจริงจังอีกครั้งก็ตอนที่กลับมาแล้วไปสมัครงานเป็น “Beertender” อยู่ที่ Mikkeller Bar”

    ชีวิตของเท่าพิภพ กลายเป็นผู้ชายที่ทุ่มเทให้กับการทำเบียร์อย่างตั้งใจ กว่า 50 ครั้งในการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าของเขากับการต้มเบียร์ที่แฟลต แลกไปกับเวลาการทำงานอย่างหนักทั้งในชีวิตการทำเบียร์และชีวิตจริง

    รายได้จากอาชีพ Beertender ทั้งหมดของเขาหมดไปกับการซื้ออุปกรณ์ลงทุนในการทำเบียร์ และอาชีพเสริมในการเป็นไกด์จักรยานเท่านั้นที่เท่าใช้ในการเลี้ยงตัวเองในเวลานั้น

    เมื่อถึงจุดที่ชายหนุ่มคิดว่าได้รับความรู้และประสบการณ์จาก Mikeller Bar จนอิ่มตัวแล้ว เท่าก็ตัดสินใจที่จะลาออก และทุ่มเทให้กับการทำเบียร์ เขาเริ่มปล่อยเบียร์ของตัวเองออกขายเพื่อที่จะได้มีทุนกลับมาสร้างเบียร์ในล็อตต่อ ๆ ไป

    สำหรับเท่าพิภพแล้ว เบียร์เป็นที่ที่ศิลปะและวิทยาศาสตร์โคจรมาพบกัน การทำเบียร์สำหรับเขาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ ร่างกายและกระบวนการควบคุมอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งงานที่มีคุณภาพและปลอดภัย

    “คนอาจจะคิดว่ามันเท่ คือมันเป็นงานหนักนะ คนจะลืมคิดไปว่ามันต้องคอยแบกข้าว แบกน้ำ แบกหม้อ ทำความสะอาด คอยคุมระบบ บางครั้งก็ต้องแก้ปัญหาเวลาที่มีอะไรเสีย”

    วันเวลาระหว่างเท่ากับเบียร์สอนเรื่องราวในชีวิตให้เขามากมาย มากไปกว่าความรู้ในเบียร์ที่ทำและธุรกิจ มันสอนเขาถึงการผ่านพ้นวิกฤติของการเป็น Start up มือใหม่อีกด้วย บทเรียนราคาแพงเป็นและปัญหาที่เกิดขึ้นในทีมเกือบจะทำให้ความฝันการทำเบียร์ของเขาสิ้นสุดลง

    “จำได้ว่าตอนนั้นร้องไห้อยู่ที่เกาหลีเลย คือตัดสินใจพลาดมาก เราบินไปหาแฟนที่เกาหลี ทิ้งทีมเอาไว้ แล้วคนในทีมก็พึ่งมีแฟนเหมือนกัน มันกลายเป็นว่าทุกคนไม่ทำงาน แล้วเหลืออีก 5 วันที่ต้องจ่ายค่าเช่า คือตอนนั้นคิดว่ามันจบแล้วหรอ ทำไมถึงจบโง่จัง”

    “วันต่อมาก็ได้ไปฟัง James Watt เจ้าของเบียร์ BrewDog เขามาพูดที่เกาหลีพอดี ตอนนั้นก็ถามเขาไปว่าช่วงเวลาที่ยากที่สุดของการทำธุรกิจคืออะไร เขาก็เล่าให้ฟังว่าธุรกิจช่วงเริ่มต้นมันยากทั้งนั้นแหละ แล้วก็บอกว่า “You have to insanely believe in what you doing” ตอนนั้นก็คือพยายามไล่ขายเบียร์ในเฟซบุ๊ค ทั้งที่อยู่เกาหลี ทีมที่อยู่ไทยไม่ขายเลย ไปส่งให้อย่างเดียว พอกลับมาก็ซัดกันยับ เคลียร์กันจนเข้าใจ แล้วสุดท้ายก็เหลือทีมนี่แหละที่ดีที่สุดแล้วหลังจากผ่านช่วงเวลาพวกนั้นมาด้วยกัน”
    การเดินทางของเท่าและเบียร์ของเขาไม่ได้สิ้นสุดลงจากปัญหาที่พบเจอ หลังการถูกจับกุมและยึดเบียร์จำนวนมาก เท่ายังคงตัดสินใจที่จะทำตามความฝันของเขาต่อไป แต่ปรับเปลี่ยนมันให้ถูกต้องมากยิ่ง แผนการของเขาคือการผลิตเบียร์ที่ประเทศเพื่อนบ้านและนำเข้ามาขาย รวมไปถึงปรับเปลี่ยนโฉมของ “อนาถาบาร์” ไปสู่การเป็น “TaoPiphob Bar project”

    “คือถ้าวันนึงบาร์เราอยู่ได้มันก็ถือเป็นการประสบความสำเร็จอย่างนึงนะ แต่เป้าหมายที่ต้องการจริง ๆ มันคือการที่เราอยากให้มีร้านมาเปิดข้าง ๆ มาเปิดอยู่ตรงข้าม เรายินดีให้คำปรึกษากับทุกคน อยากให้คนมาที่นี่เพื่อมาเที่ยว มาเสพย์ศิลปะของเบียร์ มารวมตัวกันเป็นคอมมูนิตี้มากกว่า เราโฟกัสตรงนี้มากกว่ากำไรเยอะ”

    ขวดเบียร์ว่างเปล่าแล้วแต่ความฝันของเท่ายังเต็มเปี่ยม นับตั้งแต่วันที่ James Watt กับเขาได้พบกัน เป้าหมายของเท่าพิภพคือการที่เขาต้องการจะเป็น Brewer ระดับท็อปของโลก…  

    สำหรับเขา Craft beer คือความฝันใหญ่… เท่าพิภพ
(Photo cr. TaoBarproject)


Credits
Text : Thima maipang
Photographer : Sithipong Tiyawarakul
Special thanks : TaoPiphob Bar Project [ 081 427 6062 / เปิด 17:00 – 00:00 ]