“IMAGE” สุธิตา อีกหลักไมล์ในบ้าน Smallroom :: เมื่อคุณเริ่มคิดถึงใครสักคน เพลงของเธอจะเป็นอีกองค์ประกอบ

“Born to be singer” หลายคนคงนิยามเธอเช่นนี้ทุกคราวที่เห็นเธอร้องเพลง เธอบอกเราว่ามันเริ่มก่อนจะจำความได้อีกด้วยซ้ำ ครั้นเยาว์วัยเมื่อเพลงสักเพลงจากวิทยุติดหู เธอจะมีผู้ฟังคือครอบครัว ถัดมาคือการประกวดในชั้นอนุบาล อายุที่ไล่ลำดับไปพ้องกับตัวเลขของผู้คนที่อยู่ล่างเวที จนกระทั่งการร้องเพลงได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเธอ

ไม่ใช่แค่ความไพเราะเท่านั้นหรอกที่จะบอกว่าใครเกิดมาเพื่อร้องเพลง แต่การสร้างอารมณ์ให้กับคนฟังต่างหากที่ทำให้เสียงของ อิมเมจ – สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ ค้างอยู่ในใจของใครหลายคน มาวันนี้เธอเป็นอีกสมาชิกของครอบครัว Smallroom มีเพลง “ใจเย็น เป็นอีกหลักไมล์ และแน่นอนว่าคนฟังที่อยู่ตรงนี้ จะคอยให้อีกหลาย ๆ เพลงจากเธอ มาเป็นส่วนหนึ่งของช่วงชีวิต

 

รู้ตัวว่ารักการร้องเพลง ตั้งแต่เมื่อไหร่
IMAGE : ทุกคนน่าจะชอบฟังเพลงอยู่แล้ว บ้านเราก็ไม่ต่าง แค่ว่าชอบแนวไหนเฉย ๆ จริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่เราทำตั้งแต่ก่อนเราจำความได้ น่าจะเริ่มจากการฟังเพลงบนรถ สมัยก่อนที่เป็นเทป แล้วเราจะร้องตาม ตอนนั้นเราเด็กก็ไม่เข้าใจหรอกว่าคำนี้แปลว่าไร แต่เราร้องตามไปแล้ว เลียนแบบเสียงเขาเรียบร้อย ซึ่งพ่อแม่ชอบเปิดให้ฟังด้วย ตอนนั้นที่จำได้จะเป็น The Carpenters หรือคุณพ่อก็จะชอบ Eagles อะไรพวกนี้ แล้วที่ขาดไม่ได้ก็ต้องเป็นพี่เบิร์ด โดยพี่เบิร์ดก็คือทุกยุคในชีวิตเลย ตอนนี้ก็ยังฟังพี่เบิร์ดอยู่

ส่วนตอนนั้นพี่เบิร์ดเป็นอัลบัมบูมเมอแรง – ก็เพราะวาฉันเป็นอย่างบูมเมอแรง (ร้องเพลงและเต้นโชว์ไปหนึ่งท่อน) จำได้ว่าคุณยายชอบมาก มีโปสเตอร์บูมเมอแรงด้วย

“แต่พอเรามาทำงาน ความตื่นเต้นมันกลายเป็นกังวล เพราะเราต้องมีมาตรฐานแล้ว มันจะพลาดไม่ได้”

คอนเสิร์ตครั้งแรกของอิมเมจ
IMAGE : อนุบาลเลย ร้องโชว์ครั้งแรกตอนอนุบาล มันเป็นการประกวดนางนพมาศ แล้วตอนเด็ก ๆ เหมือนเป็นช่วงชีวิตที่เรามึน ๆ งง ๆ เหมือนเมาอะไรอยู่ไม่รู้ ทำอะไรแบบไม่คิด คือครูเขาให้แสดงความสามารถพิเศษเราก็ทึกทักไปเองเลยว่าตัวเองร้องเพลงได้ ก็ไปประกวดนางนพมาศกับเขา เราร้องเพลงแม่ปลาบู่เพราะตอนนั้นมีละครเรื่องปลาบู่ทอง แล้วเราก็ติดเพลงนี้มาก มันเหมือนฟังนิทานที่มีรูป เลยเอาเพลงนี้มาร้อง อยู่ดี ๆ ก็ชนะได้เป็นนางนพมาศ

แต่เราจำโมเมนต์ตอนนั้นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ที่รู้เพราะว่ามีวีดีโอที่แม่ถ่าย ดูในวีดีโอเราก็ดูไม่ได้เขินเลยนะ เมื่อก่อนตัวเล็ก ๆ มือเท่านี้ แต่ไมค์ใหญ่เท่านี่ ถืออย่างงง ๆ แล้วก็ยืนร้องเฉย ๆ เลย นับตั้งแต่นั้นจำความได้ก็ร้องเพลงมาโดยตลอด อย่างช่วงมัธยมก็เหมือนเป็นนักร้องโรงเรียน มีวันแม่ วันพ่อ วันคริสต์มาส เขาก็จะให้เราไปร้อ

 

ตื่นเต้นกับการขึ้นเวทีไหม
IMAGE : ตื่นเต้น ตื่นเต้นทุกครั้ง มีอนุบาลสามตอนเดียวที่ไม่ตื่นเต้นเพราะจำไม่ได้ (ที่ได้เป็นนางนพมาศ) แต่พอจำความได้ก็ตื่นเต้นทุกครั้ง

แล้วเราจัดการกับความตื่นเต้นอย่างไร
IMAGE : จัดการไม่ได้นะ เอาจริง ๆ แล้วมันเป็นความล่ก ซึ่งมันเกินตื่นเต้นไปแล้ว มันล่ก คือเมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ มันล่กน้อยกว่านี้เพราะเรายังไม่ได้มาทำงานจริงจัง เราร้องงานโรงเรียน คือ…โอ้ย พลาดก็ได้ ไม่เป็นไร ไม่มีใครรู้จัก หรืออย่างน้อยพลาดก็กี่พันคนเองที่จะรู้ แล้วไม่มีใครสนใจอยู่แล้ว แต่พอเรามาทำงานมันเกินความตื่นเต้นมันกลายเป็นล่ก กลายเป็นกังวล เพราะเราต้องมีมาตรฐานแล้ว มันจะพลาดไม่ได้

 

ความตื่นเต้นหรือความล่ก มันเป็นข้อเสียต่อเราไหม
IMAGE : ตื่นเต้นเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าล่กเนี่ยจะเป็นข้อเสีย การตื่นเต้นแปลว่าเราอยากทำมันออกมาให้ดี แต่ล่กมันเกินกว่านั้น มันคือวิตกจริตไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นข้อเสีย ยิ่งเราล่ก เราก็ยิ่งเสียสมาธิ

 

อย่างที่เราถ่ายรูปอิมเมจกันวันนี้ หรือที่สัมภาษณ์อยู่ ทำให้ตื่นเต้นไหม
IMAGE : วันนี้ไม่ตื่นเต้นค่ะ คือการร้องเพลงบนเวทีมันขออีกเทคไม่ได้ เอาใหม่ไม่ได้ หรือการออกรายการสดกับการบันทึกเทป ความตื่นเต้นมันก็ไม่เหมือนกัน เพราะว่าการบันทึกเทป เดี๋ยวเขาไปตัดต่อ แต่ว่าออกรายการสดคือมันเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ทุกคนเห็นที่เราพูโพร้อมกัน ขึ้นดนตรีมา มันก็เป็นดนตรีสด มันขออีกเทคไม่ได้ พลาดแล้วพลาดเลย มันก็…

จริง ๆ ก็แล้วแต่วัน แล้วแต่งานค่ะ มันจะมีบางวันที่เราตื่นมาก็แล้วรู้สึกไม่พร้อม มันจะล่กแต่เช้าเลย อาจจะนอยด์ทั้งวัน กระทั่งไปทำงาน ถ้าไม่พลาด เราก็ไม่ได้ดีใจ แต่ถ้าพลาดจะเซ็งมาก เราค่อนข้างจริงจังกับงาน เพราะมันเป็นอาชีพเราไปแล้ว อาจจะไม่ได้ถึงขั้นคาดหวังว่าต้องดีมาก ๆ ทุกวัน แต่เรียกว่ารักษามาตรฐานดีกว่า

 

คนดูมีส่วนช่วยให้ผ่อนคลายขึ้นไหม
IMAGE : ใช่ ๆ มันอยู่ที่บรรยากาศด้วยค่ะ ถ้าคนดูเขาให้ใจเรามา จอยกับเรา เราก็จะมีแรง มีพลังมากขึ้น
แต่ว่าความล่กของเราจะแสดงออกมาในรูปแบบการจำเนื้อเพลงไม่ได้ บางทีก็อาจจะหายไปทั้งท่อนเลย นึกออกไหม ขึ้นประโยคไม่ได้ปุ๊ป หายหมดเลย เราก็จะยื่นไมค์ให้คนดู

 

สูตรนี้ใคร ๆ ก็ทำกันรึเปล่า
IMAGE : คนอื่นไม่น่าลืมเนื้อร้อง เขาน่าจะคิดว่าท่อนนี้คนร้องได้เขาเลยให้ร้อง ปกติเขาจะยื่นท่อนฮุคกันใช่มั้ย เราขึ้นมาคำแรก…ลืม ก็ยื่นไมค์เลย

อะไรในตัวคนดูที่ทำให้เราผ่อนคลายขึ้น
IMAGE : ทุกครั้งที่เราขึ้นเวที พอคิดว่าเราเป็นศิลปินที่มาเล่นให้ผู้คนได้ดู มันล่กอะ เราก็พยายามคิดว่าทุกคนเป็นเพื่อนกัน เราแค่มาร้องเพลงให้เพื่อนฟัง เหมือนกับว่า “เธอ ๆ เราชอบเพลงนี้มากเลย อยากร้องให้ฟัง” แล้วลิสท์เพลงที่เราเลือกมันก็ปรับเรื่อย ๆ เราก็เลือกเพลงที่คนดูก็ชอบ แล้วเราก็ชอบด้วย ถ้าเป็นเพลงที่เขาชอบอยู่แล้ว แล้วเราเอามาร้องพอดี เขาก็จะจอยไปกับเรา มันมีจุดร่วม

 

โมเมนต์โปรดบนเวที
IMAGE : เพิ่งเกิดขึ้นนี่เองค่ะ เป็นงานแคมปัสที่ มจธ. (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) คือเราร้องเพลงตัวเอง (เพลง ใจเย็น) แล้วคนร้องตามได้ทั้งฮอลเลย ร้องเสียงดังกว่าที่เราร้องออกไมค์ ตอนนั้นแบบ “โอ๋ ไม่คิดว่าจะมีคนร้องเพลงเราได้เยอะขนาดนี้” เขาร้องได้แบบร้องได้จริง ๆ เราก็รู้สึกดีใจ (ทำตาปลื้มปริ่ม)

รู้สึก level up อะไรทำนองนั้นรึเปล่า
IMAGE : ไม่ใช่ level up มันเป็นความรู้สึกตื้นตัน เหมือนเป็นเพลงแรกของเรา แล้วเราก็ไม่คิดว่ามันจะเข้าถึงคนได้เยอะขนาดนั้น คือเขาร้องกันทั้งฮอลจริง ๆ เสียงดังมาก ดังจริง ๆ ยืนจะร้องไห้ เวอร์เนาะ (หัวเราะ) มันรู้สึกดีมาก ๆ

 

ซึ่งยื่นไมค์ไปเราก็ไม่ได้ลืมเนื้อเพลงด้วย
IMAGE : ไม่ลืม เราไม่ได้ยื่นด้วยซ้ำ เราเอาไมค์ถือไว้อย่างนี้เลย (ทำท่าถือไมค์อย่างหนักแน่น) ทุกคนเขาร้องของเขาเอง ความรู้สึกตอนนั้นมันดีมากเลยค่ะ รู้สึกเหมือน…(นึกสักพัก) มันเปรียบเทียบกับอะไรไม่ได้เลย

 

คิดว่าตัวเองถนัดกับเพลงประเภทไหน
IMAGE : จริง ๆ แล้วมีคนบอกบ่อย ๆ ว่าเราเป็นคนที่แปลกมาก เพราะว่าร้องเพลงอะไรก็กลายเป็นเศร้าหมดเลย เพลงจะเป็นความหมายดีก็ได้ มันก็จะกลายเป็นดีแบบเศร้า ๆ อย่างรักแรกพบของ Tattoo Colour ความหมายมันค่อนข้างบวกเนาะ ประมาณว่าเราไปเจอเธอแล้วเราก็เชื่อแล้วว่ารักแรกพบมีจริง แต่เราร้องแล้วมีคนเคยบอกเรา ว่าทำไมมันฟังดูหม่น ๆ ไม่สมหวัง

แล้วเรารู้สึกว่าหม่นไปด้วยหรือเปล่า
IMAGE : ไม่เลย ตอนเราร้อง คือเราจะตีความแบบที่เราเข้าใจ เราก็ตีความตามเจ้าของเพลงนะ อย่างเขาร้องไว้แฮปปี้ โทนค่อนข้างสว่างอะไรงี้ เราก็ตีความตาม แต่มันเหมือนเป็นที่เสียงอะค่ะ เสียงมันหม่น มันร้องอะไรมันก็หม่นไปหมด
เรามีพี่คนหนึ่งที่สนิทมาก แล้วเราก็ชอบไปร้องเพลงใส่เขา เขาบอกว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่อินเนอร์หรอก มันเป็นที่เสียงจริง ๆ คือเราไม่ได้เป็นคนเศร้า แต่เสียงมันเศร้าเฉย ๆ แต่ถ้าเพลงไหนอินมาก ๆ อารมณ์เข้าถึงมาก ๆ ก็จะยิ่งเศร้า

 

ความรู้สึกของการมีซิงเกิลเป็นของตัวเอง  มันเป็นอย่างไร
IMAGE : ความรู้สึกแรกเลยสำหรับซิลเกิลนี้ คือการรู้สึกขอบคุณหลายคนมาก ๆ เริ่มตั้งแต่ขอบคุณพี่รัฐที่แต่งมาให้ ขอบคุณพี่รุ่ง ขอบคุณทุกคนในค่ายเลย เพราะความจริงแล้วมันเป็นเหมือนทุกคนมาช่วยกันฟัง ช่วยกันออกความเห็น แล้วต้องขอบคุณวงเรา ที่ช่วยกัน arrange กัน ตลอดจนขอบคุณทุกคนที่ฟัง มันเป็นเพลงที่นึกถึงทีไรก็มีแต่คำว่าอยากขอบคุณ
มันทำให้เราระลึกอยู่ตลอดว่างานชิ้นนี้เป็นผลผลิตจากความตั้งใจ ไม่ใช่แค่คน ๆ เดียวหรือสองคน แต่มันเป็นสิบๆ คนที่เข้ามาช่วยเรา เข้ามาออกความเห็นต่าง ๆ

 

เป็นเหมือนอีกหลักไมล์ของเรา
IMAGE : ใช่ค่ะ เป็นเหมือน check point อันหนึ่ง คือเราฟังเพลงนี้ครั้งแรกที่พี่รัฐส่งมาเราก็ชอบมาก ๆ อยู่แล้ว แล้วพอยิ่งมาทำใหม่ให้มีความเป็นเรามากขึ้น เราก็ยิ่งชอบ

 

เห็นการเติบโตของเพลงใจเย็น
IMAGE : เห็นค่ะ ครั้งแรกคือคนดูงงมากเลย เพลงอะไร แต่ครั้งล่าสุดที่ร้องก็อย่างงาน มจธ. ที่บอกว่าเขาร้องได้ทั้งฮอล เออ…เราก็รู้สึกเพลงมันก็เติบโตของมัน แล้วเรารู้สึกว่ามัน amazing มากเลยที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับเราได้

นิยามของคำว่าศิลปิน
IMAGE : มันนิยามยากนะคำว่าศิลปิน ศิลปินก็คงเป็นผู้สื่อสาร สามารถสร้างสรรค์ผลงานเองได้ และสื่อสารให้คนเข้าใจได้ ยกตัวอย่างเช่นศิลปินคนหนึ่งแต่งเพลงได้อัลบัมหนึ่ง ร้องไปแล้วคนเข้าใจ พอมีกลุ่มคนที่เข้าใจเขาก็สามารถที่จะสื่อสารกับคนพวกนั้นต่อหน้า เหมือนเราทำเพลง ปล่อยลงยูทูป พอคนเริ่มอินกับเพลงเรา เราก็ไปออกคอนเสิร์ต ก็เป็นฟีลนั้น ไปสื่อสารกันแบบ face to face แล้วก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ ทำให้คนอื่นมีความสุขไปกับเพลงที่สุข และเข้าใจในความทุกข์ไปกับเพลงที่มันเศร้า
มันเป็นการสื่อสาร ถ้าสื่อสารเข้าไปถึงใจคนฟังได้ อันนั้นสร้างผลงานสื่อสารได้ก็คือศิลปิน

 

อิมเมจเป็นศิลปิน?
IMAGE : คือเราไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเราเป็นศิลปินเต็มตัว จริง ๆ แล้ว เชื่อว่าต่อให้เรามีอัลบัม เราก็ยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินเต็มตัว อือ…เราก็คงใช้คำว่า “มันเข้าใกล้อีกขั้น” ไปเรื่อย ๆ

คือทุกคนที่เรารู้สึกว่าเขาเป็นศิลปิน เขาเหนือชั้นไปอีกขั้นมากแล้ว เขาเทพมาก เขาเก่งมาก สุดยอดมากจริง ๆ แล้วเราก็รู้สึกว่ายังไงเราก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น มันเหมือนขับรถไปเรื่อย ๆ แล้วไม่รู้ว่าไปสุดที่ไหน แต่เราแค่อยากขับ

“ทุกคนที่เรารู้สึกว่าเขาเป็นศิลปิน เขาเหนือชั้นไปมากแล้ว เรารู้สึกว่ายังไงเราก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น มันเหมือนขับรถไปเรื่อย ๆ แล้วไม่รู้ว่าไปสุดที่ไหน แต่เราแค่อยากขับ”

เข้าบ้าน Smallroom ต้องปรับตัวเยอะไหม
IMAGE : ไม่ต้องปรับตัวเลยดีกว่า ตอนแรกเราเข้าไปก็เกร็ง ๆ แต่พี่ๆ เขาก็ต้อนรับอย่างอบอุ่น ละลายพฤติกรรม จริง ๆ แล้วเราเริ่มสนิทกับคนอื่น ๆ ก็ตอนที่มันเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ของค่าย เราก็ต้องมาซ้อม มาอะไรที่ค่ายบ่อยขึ้น ก็ได้เจอทุกคนบ่อยขึ้น การเจอกันบ่อย ๆ ได้ทักทาย บางทีก็มีเรื่องคุยปรึกษาพี่ ๆ เขา เช่น เราจะโชว์เป็นครั้งแรกเลย เราต้องทำยังไงบ้าง วันละนิดวันละหน่อยมันก็กลายเป็นแบบนี้ เราก็สบายใจ แค่เดินเข้าไปนั่งเล่นที่ค่ายก็เจอใครก็ได้

เล่าเบื้องหลังการทำงานให้ฟังหน่อยได้ไหม
IMAGE : ได้ค่ะ เรื่องของเรื่องคือ พี่รุ่งเขามอบหมายให้พี่รัฐแต่งเพลงนี้มาให้ พี่รัฐก็แต่งมาให้ แล้วเราก็ได้ฟังเดโม่ที่เป็นเสียงเปียโนกับเสียงพี่รัฐเฉย ๆ ก็ดีมาก เพราะมากเลย พี่รุ่งก็มอบหมายให้วงที่เล่นให้เราเลือก ก็เป็นพี่ ๆ ที่มหา’ลัยมาช่วยเล่นเป็น back up เราก็ชวนมาเล่น พี่รุ่งก็บอกว่า “ลองไป arrange กันเองไหม” เพราะเขาเคยมาดูซ้อม เขาก็รู้สึก เออ…มันก็เล่นเป็นวงดี อยากให้ลองใช้ความเป็นวงทำเพลงนี้ดู ซึ่งเราก็ไม่ได้มีส่วนร่วมมากกับการ arrange เพราะเราไม่มีความรู้ด้านดนตรีเท่าไหร่ เราก็จะทำได้แค่บอกว่าตรงนี้ชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องยกความดีความชอบให้พี่ ๆ ในวง สุดท้ายเขาก็ทำออกมาเป็นเวอร์ชันนี้ แล้วมีพี่รุ่งคอยไกด์นี่แหละค่ะ ไปจนถึงตอนอัดคือใช้ทุกคนในวงอัดเครื่องดนตรีของแต่ละคน

แล้วก็มี MV ซึ่งเราค่อนข้างภูมิใจเพราะเราไปคิดพล็อตมาเอง พล็อตหลักของตัว MV แต่หลังส่งให้พี่ ๆ ที่เชี่ยวชาญไปพัฒนาต่อ มันก็เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน ตอนแรกบอกพี่รุ่งว่า “ไม่เอาพี่ หนูไม่เล่นจริง ๆ ไม่เล่นแน่ ๆ” สุดท้ายพี่เขาบอกว่าหาคนไม่ได้แล้ว เลยเล่นเองก็ได้ โผล่มาประมาณห้าวิตอนท้าย ก็รู้สึกว่าเยอะแล้วนะ เวลาที่เข้าไปดู MV ตัวเอง คือเราชอบทุกอย่าง ทั้งเรื่อง ภาพ สี เพราะเราเป็นคน request ว่าเอาสีประมาณนี้ พี่เขาก็ย้อมสีมาให้ แต่ทีนี้พอถึงตอนตัวเองก็จะกดปิด ไม่ดูแล้ว (ทำหน้าเขินอ่อน ๆ)

 

การร้องเพลงนี้ ต้องปรับจากสไตล์เดิมของเรามากไหม
IMAGE : มันไม่ค่อยปรับวิธีการร้อง หมายถึงว่าเขาก็ arrange ออกมาให้เข้าใกล้เรามากขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งตอนอัดมีพี่ที่ค่ายเขาคุม ตอนแรกเขาบอกร้องมาเลยแบบที่เราคิด เราก็ร้องไปตามปกติของเรา เขาก็จะไกด์ว่า “เดี๋ยวแก้คำนี้นะ เดี๋ยวตรงนี้เบาลง ตรงนี้เพิ่มขึ้น” เขาก็คอยชี้ไปเป็นจุด ๆ ว่าอย่างไรดี หรือแบบไหนดีกว่ากัน ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด

 

พอบอกได้ไหมว่าท่อนไหนใช้อารมณ์เยอะสุด
IMAGE : เราว่าน่าจะเป็นท่อน pre-hook ค่ะ มันร้องว่า “เหมือนกลับไปยืนที่เก่า หากความทรงจำครั้งเก่า เหมือนเดิม เหตุการณ์ยังฝังในใจ” (ร้องเพลง) มันเป็นตอนที่เล่าว่าความทรงจำมันแฟลชกลับมา ซึ่งเรารู้สึกว่าเวลาร้อง มันต้องเห็นภาพอะไรสักอย่าง ว่ามีอะไรที่วิ่งเข้ามาในหัวเรา ก็เลยรู้สึกว่ามันใช้อารมณ์เยอะ เป็นท่อนที่ต้องจินตนาการเยอะที่สุด

เวลาอิมเมจร้องเพลง ก็จะนึกภาพตาม
IMAGE : ค่ะ บางทีมัวแต่นึกภาพไง ก็เลยจำเนื้อไม่ได้ อารมณ์นี่มาเต็มเลย แต่เนื้อแบบ…ห๊ะ อะไรนะ

 

อิมเมจเป็นคนใจเย็นหรือใจร้อน
IMAGE : เราว่าทุกคนเขาจะมีความใจเย็นและใจร้อนอยู่ด้วยกัน แค่ว่ามันเป็นมุมไหน บางคนเวลาขับรถใจเย็นมากเลย แต่เวลาโดนแซงคิว ใจร้อน มันแล้วแต่ว่ามุมไหน

ซึ่งเราก็เป็นคนหนึ่งที่มีทั้งใจเย็นและใจร้อนอยู่ในตัว แล้วแต่ว่าเรื่องอะไร อย่างเราจะใจเย็นเวลาทะเลาะกับคนอื่น เช่น เขาอาจจะโมโหใส่เรา แต่เราก็จะไม่เคยโกรธใครเลย แล้วเพื่อน ๆ ก็จะกลัวเราโกรธ เพราะเคยได้ยินไหมที่บอกว่าคนที่ไม่ค่อยโกรธ เวลาโกรธจะน่ากลัวมาก แต่เราก็ไม่คิดว่าเราจะโกรธนะ มันก็คงไม่น่ากลัว และเราไม่คิดว่าจะโกรธแต่แรกแล้ว อันนี้ก็คือความใจเย็นของเรา

แต่ความใจร้อนมันก็มี เช่น เราเป็นคนที่ตอบสนองต่อสภาพอากาศพอสมควร คือถ้าอากาศร้อนจะหงุดหงิด สมมติว่าอากาศร้อนและอยู่ในที่ที่คนเยอะอีก แล้วเราเป็นคนเดินเร็ว ถ้าคนข้างหน้าเดินช้า เราก็จะแซะ ๆๆๆ เหมือนคนขับรถแล้วเปลี่ยนเลนไปมา บางทีก็อาจจะมีไปชนคนอื่นเขาบ้าง แต่เราก็หันมาขอโทษนะ แต่สุดท้ายแล้ว มันจะดีกว่าไหม ถ้าไม่ทำแต่แรก อะไรอย่างนี้ นี่ก็คือความใจร้อนในตอนนี้ของเรา

อากาศร้อนหนึ่ง คนเยอะสอง ถ้ารวมกันก็เป็นคอมโบ แต่ความใจเย็นในความหมายของเรา คิดว่ามันเป็นเรื่องของการรู้เท่าทันตัวเองมากกว่า ตามตัวเองทันว่ากำลังจะทำอะไร กำลังรู้สึกอะไร มีเหตุก็ต้องมีผล ถ้าทำอย่างนี้ไปผลจะเป็นอย่างไร มันคือการประมวลทุกอย่างให้ทันก่อนที่เราจะลงมือ ใช่…ซึ่งมันก็ไม่ได้ยาก แต่มันก็ไม่ได้ง่าย

การเป็นคนใจเย็นคือการเป็นคนมีสติ

 

แต่ก็ดูไม่ใช่เรื่องใหญ่นะ อาจแค่คล้ายมนุษย์ป้าคนหนึ่ง
IMAGE : เออ…อาจจะมีความเป็นมนุษย์ป้าในเวลาที่ใจร้อน แต่เรายังไม่เคยแย่งที่นั่งใครนะ (หัวเราะ)

เสน่ห์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ (อิมเมจกำลังศึกษาอยู่คณะนี้)
IMAGE : คือมันมีมหภาคกับจุลภาค มหภาคมองมวลรวมประเทศ พวกเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล หรือว่าแบงค์ชาติ พวก GDP แต่จุลภาคเราจะมองเข้าไปตัวบุคคล ตัวบริษัท หรือตัวครอบครัวว่า พวกเขา make choice กันอย่างไร ทำไมถึงตัดสินใจแบบนี้ มีความต้องการและมี supply อย่างไร ซึ่งเรารู้สึกว่าตัวเราจะเก็ทกับจุลภาคมากกว่า เพราะว่ามันเอามาใช้ในชีวิตจริงได้

อย่างคอนเซ็ปต์ง่าย ๆ มันจะมีคอนเซ็ปต์หนึ่งชื่อว่า law of diminishing คือสมมติว่าเราหิวมาก ๆ เรากินเบอร์เกอร์ไปชิ้นหนึ่ง เรามีความสุขเพิ่มขึ้นสิบหน่วย ชิ้นที่สองความสุขเพิ่มขึ้นแปดหน่วย ชิ้นที่สามความสุขเพิ่มขึ้นห้าหน่วย ไปเรื่อยๆ จนไปถึงชิ้นที่ห้า เราอิ่มมากแล้ว ความสุขไม่เพิ่มแล้ว พอเรากินชิ้นที่หกความสุขลดเลยเพราะว่าเราอิ่มมากแล้ว อย่างเนี้ยเขาก็สามารถดูได้ว่าคน ๆ หนึ่งจะมี demand เท่าไร เรารู้สึกว่ามันเข้าใกล้ชีวิตจริงมาก เราเลยชอบ ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าคณะนี้มีประโยชน์

 

สามารถโยงเข้ามากับการร้องเพลงได้ไหม
IMAGE : ก็ได้นะ เช่น minor marketing ที่เราเรียน เราก็จะต้องดูความต้องการของตลาดอะไรอย่างนี้ ว่ามีจุดไหนที่ยังไม่เคยมีใครทำไหม แล้วมีความต้องการในจุดนั้น ซึ่งมันมีอยู่แล้วแหละ เราแค่ต้องหามันให้เจอ แล้วเอาตัวเองเข้าไปเติมในจุดนั้น มันก็จะทำให้เราอยู่ต่อไปได้

แชร์เทคนิคการแบ่งเวลาได้ไหม
IMAGE : ได้ค่ะ…สำหรับเรื่องการเวลานะคะ บอกได้เลยว่าทำไม่ได้ (หัวเราะ) คือว่าเราทำได้ดีที่สุดแค่จัดตารางงานให้ไม่ชนกับตารางเรียน วันไหนที่มีเวลาเรียนก็จะไม่มีงาน จะไม่รับงาน สมมติเรียนเช้า งานเข้ามาบ่าย ก็รับได้ แล้วช่วงจะสอบก็จะพยายามรับน้อย ๆ

 

นอกจากเรื่องงานหรือเรียนแล้ว ตอนนี้อิมเมจสนใจอะไรอยู่
IMAGE : มีค่ะ สนใจถ่ายรูป ชอบถ่ายรูป พกกล้องทุกวันเลย มันจะเป็นโมเมนต์ว่า “อู้ย…อันนี้น่าถ่ายอะ” แล้วมือถือกล้องอยู่พอดีก็ถ่ายเลย ไม่ใช่ว่าต้องไปถ่ายวิวหรือต้องไปหาแบบมาถ่ายนะ คือเราชอบถ่ายรูปทุกประเภทนั่นแหละนะ แต่มันก็ค่อนข้างจะไม่สะดวกที่ต้องนั่งรถไปถ่ายถึงต่างจังหวัด คือถ้าเราไม่ได้จะไปอยู่แล้วหรือว่าต้องโทรชวนเพื่อนเพื่อออกมาถ่ายหากเราไม่ได้จะเจอเขาอยู่แล้ว เราจะอาศัยโอกาสที่มีอยู่แล้ว เราถึงจะถ่าย อย่างเช่น ทุกวันนี้เราเดินทางไปมหา’ลัย นั่งข้างหน้าต่างก็ถือกล้องเลย ช็อตนี้น่าถ่าย ก็ถ่าย

 

เหมือนไดอารี่ที่บันทึกด้วยภาพ
IMAGE : ก็ได้นะ มันเหมือนแชร์มุมมองในแต่ละวันของเราค่ะ แล้วเวลาย้อนกลับมาดูรูปเราก็จะจำได้ว่า “อ๋อ ตอนนั้นรู้สึกแบบนี้นะ ตอนนั้นสิ่งแวดล้อมมันเป็นแบบนี้นะ”

อยากให้อิมเมจฝากผลงาน หรือว่ากำลังจะมีอีเว้นท์อะไรหรือเปล่า
IMAGE : ตอนนี้นะคะ อยากฟังเพลงใจเย็นซึ่งเป็นซิงเกิลแรกในบ้าน Smallroom ของอิมเมจค่ะ…ขออีกรอบหนึ่งค่ะ คัท ๆ (ทำท่าสั่งคัทตัวเอง) ตอนนี้อยากฝากเพลงใจเย็น  เป็นซิงเกิลล่าสุดและซิงเกิลแรก ของอิมเมจในค่าย Smallroom ค่ะ อยากให้ทุกคนได้ฟังเพราะว่าเราก็ตั้งใจทำมาก ๆ

แล้วตอนนี้ค่าย Smallroom ของเราเนี่ย กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ชื่อว่า ม.ห.ส.ร.ค. ค่ะ จัดที่มหาสารคาม ตอนนี้สามารถซื้อบัตร early bird ได้แล้ว รายละเอียดไปติดตามได้ในเฟซบุ๊กแฟนเพจของ Smallroom ได้เลยค่ะ

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=9A8orCu_frw[/embedyt]

ติดตาม IMAGE ได้ที่
FB: Smallroom , Image Suthita
IG : imageswift13


Credits
Model : “IMAGE” Suthita Chanachaisuwan
Photographer : Patarit Pinyopiphat
Stylist : Sutsiri Nimruang
MUA & Hair : Phakasinee Chula
Fashion Producer : Sunicha Suparat
Photographer’s Assistant :Sithipong Tiyawarakul 
Text : Sithipong Tiyawarakul
VDO : Praweena Fangrew
Special Thanks : Smallroom4
*Model wears
1.) Top: Bouffant sleeve blouse / pants: vintage belted palazzo pants – Brand: Wild blue yonder
2.) Top: / skirt: Diary grey – Chamniii
3.) Top&blazer: stylish own / pants: Wild blue yonder / shoes: slingback – Tidaa studio
all from A.SAP